ไฟ-ฟ้า โดยทีทีบี จุดประกายให้เยาวชนเรียนรู้สู่อาชีพ “พิธีกร และ Youtuber”

604

          ไฟ-ฟ้า โดยทีทีบี จุดประกายให้เยาวชนเรียนรู้สู่อาชีพ “พิธีกร และ Youtuber” ผ่านกิจกรรม “ชวนกัน(ต์)คุย” โดย กันต์ กันตถาวร แบ่งปันประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจผ่านออนไลน์

            ไฟ-ฟ้า โดยทีทีบี ได้จัดกิจกรรมพิเศษสร้างแรงบันดาลใจ “ชวนกัน(ต์)คุย” โดย กันต์ กันตถาวร มาแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจต่าง ๆ ให้เด็กไฟ-ฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ ในหัวข้อ “เส้นทางสู่ความฝัน” และ “อยากเป็น ยูทูบเบอร์ พิธีกร ต้องเตรียมตัวอย่างไร?” เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน ตอกย้ำแนวคิด Make REAL Change ผ่านโครงการต่าง ๆ แม้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถไปเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ ไฟ-ฟ้าได้ แต่การเรียนรู้ไม่ควรหยุดนิ่ง ไฟ-ฟ้าจึงเดินหน้าส่งมอบความรู้ให้กับน้อง ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านคลาสเรียนออนไลน์มากมาย มุ่งปลูกฝังทักษะทางศิลปะ และการใช้ชีวิตผ่านวิชาต่าง ๆ อาทิ ศิลปะ เทควันโด การแสดงดนตรี เต้น ร้องเพลง ภาษา และ คลาสเบเกอรี่

            โดย “กันต์” เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กว่า สิ่งที่ยึดมั่นมาตลอดคือ ความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนที่สามารถสอบเข้าและเรียนจบคว้าใบปริญญาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามความคาดหวังของครอบครัว รวมถึงการทำงานที่เริ่มต้นจากดีเจก่อนจะประสบความสำเร็จในอาชีพนักแสดง และตัดสินใจเริ่มนับหนึ่งใหม่กับงาน “พิธีกร” โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือ อยากใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น งานพิธีกรจึงตอบโจทย์การใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังค้นพบว่างานพิธีกรเป็นสิ่งที่รัก ได้เป็นตัวของตัวเอง และยังสร้างความสุขให้กับผู้ชมทุกครั้งที่ทำงานอีกด้วย

            “วัยเด็กพี่ไม่มีความฝัน ทำงานถึง 10 ปีกว่าจะค้นพบตัวตน ไม่มีใครช่วยจุดประกาย และเข้าถึงโอกาสค่อนข้างยาก เด็กรุ่นใหม่โชคดีที่มีโอกาสได้มีสิ่งต่าง ๆ มากระตุ้นการจุดประกายให้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และเมื่อได้เริ่มต้นสิ่งท้าทายใหม่ๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การขยันเรียนรู้และฝึกฝนหนักมาก เพราะงานพิธีกรมีความแตกต่างจากนักแสดงมาก แต่อุปสรรคและปัญหาเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจออยู่ที่เราพร้อมแก้ไข หรือหาทางออกอย่างไร ส่วนคนที่เจอแล้วหนีปัญหาไม่รู้จักแก้ไข หมายถึง กำลังปิดประตูโอกาสของตัวเองในการเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามปัญหาไป จึงเป็นเรื่องที่เราต้องชนะตัวเองให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ชนะอะไรเลย”       

            “กันต์” ให้คำนิยามว่า พิธีกรคือ นักฟังไม่ใช่นักพูด มีหน้าที่เป็นสื่อกลางถ่ายทอด และขยายความสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสารไปถึงผู้ฟัง และทำหน้าที่ถามคำถามแทนผู้ฟัง แม้ว่าพิธีกรไม่ใช่นักพูด แต่ต้องมีพื้นฐานการรู้จักใช้เสียง พูดจาฉะฉาน อักขระชัดเจน โดยสิ่งสำคัญคือต้องสร้างความโดดเด่นจากความเป็นตัวเอง ไม่ใช่แสดงเป็นคนอื่น เพราะพิธีกรมีความเป็นปัจเจกบุคคลที่ไม่เหมือนใคร และเลียนแบบกันไม่ได้ ทุกวันนี้จึงไม่มีการเปิดสอนวิชาว่าด้วยการเป็นพิธีกรที่ดี แต่ก็สามารถให้คำแนะนำพื้นฐานที่ควรเป็นได้ ส่วนใหญ่อาศัยเรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาด

            สำหรับ “ยูทูบเบอร์” ที่เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เด็กไทยใฝ่ฝันนั้น “กันต์” มองว่าแม้จะมีทักษะพื้นฐานเหมือนกับพิธีกร แต่ก็มีรายละเอียดต่างกัน โดย ยูทูบเบอร์ คือนักเล่าเรื่อง เป็นนักพูดที่มีจินตนาการถ่ายทอดเรื่องราวได้น่าสนใจและชวนให้ติดตาม ซึ่งประเด็นที่อยากชี้ให้ทุกคนตระหนักคือ แม้อาชีพนี้มีต้นทุนต่ำ เข้าถึงง่ายแค่มีอินเทอร์เน็ต และตัดต่อคอนเทนต์เป็น แต่คนที่ประสบความสำเร็จได้ต้องมีความแตกต่าง ทุ่มเทในสิ่งที่ทำมากกว่าคนอื่น นอกจากนำเสนอในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบแล้ว ต้องนำเสนอในสิ่งที่คนดูชื่นชอบและน่าสนใจด้วย  

            “การไปให้ถึงจุดหมายมีหลายวิธี ใช้ต้นทุนต่างกัน เราต้องรู้จักเปรียบเทียบถึงความคุ้มค่า สิ่งสำคัญต้องทำให้ตัวเองพร้อมอยู่เสมอเพื่อคว้าทุกโอกาสที่มาถึง ซึ่งปัจจุบันนี้โอกาสเข้าถึงง่าย หากต้องการเรียนรู้สิ่งไหนสามารถหาได้ง่ายโดยการค้นหาในโลกออนไลน์ ดังนั้น เราต้องมีวินัย และใฝ่หาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ  ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้พี่ผ่านประสบการณ์มามาก แต่ทุกข้อผิดพลาดก่อให้เกิดความสำเร็จ นอกจากนี้ ก็อยากเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ไฟ-ฟ้า ทุกคน ที่กำลังตามหาความฝันของตัวเอง ไม่มีใครที่มีพลังเต็มทุกแท่ง แต่เราต้องใช้แท่งพลังงานที่มีให้เกิดประโยชน์ที่สุด อยากจะทำอะไรก็ให้ลงมือศึกษาหาความรู้ หาหนทางไปสู่เป้าหมายให้ได้” กันต์ทิ้งท้าย

            น้องมิ้นท์ “นางสาว ศศิชา เบ็ญมาส” เด็กไฟ-ฟ้าปี 3 จากคลาสร้องเพลง ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า จันทน์ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ บอกว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบให้ต้องปรับตัวหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการเรียนออนไลน์ค่อนข้างมีอุปสรรค แต่การปรับตัวที่สำคัญคือ ต้องรู้จักบริหารจัดการเวลาให้ดี ทั้งเรื่องเรียนและเรื่องกิจกรรมในแต่ละวัน ซึ่งนอกจากการเรียนรู้หลักสูตรวิชาการตามปกติแล้ว ยังรู้สึกดีและชื่นชอบมากที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ได้จัดคลาสออนไลน์ พร้อมด้วยกิจกรรมดี ๆ มาเสริมให้นอกเหนือจากการเรียนวิชาการตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวแนวแฟนซี หรือ เชิญไอดอลของเด็ก ๆ มาพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่อง

            “สิ่งแรกที่ได้จากกิจกรรมชวนกัน(ต์)คุย คือ กำลังใจจากพี่กันต์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการค้นหาตัวเองเพื่อเริ่มก้าวแรกของการเป็นพิธีกร พร้อมคำแนะนำในการเรียนรู้การเป็นพิธีกร หรือยูทูบเบอร์ ซึ่งหากต้องการประสบความสำเร็จจะต้องสร้างความแตกต่าง มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง สุดท้ายอยากขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมให้เกิดกิจกรรมครั้งนี้มาก ๆ ถือเป็นกำลังใจและเป็นพลังงานสำคัญมีผลต่อจิตใจของทุกคนในยามนี้มาก ๆ” 

            ปิดท้ายด้วย น้องหยก ด.ญ.นลัทพร เจียมผดุง เด็กไฟ-ฟ้าปี 1 จากคลาสกีตาร์ ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ บอกว่า ได้รับความรู้มากจากกิจกรรมชวนกัน(ต์)คุย เช่น การพูดสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมาก และการเป็นพิธีกร หรือยูทูบเบอร์ที่ดีต้องไม่เลียนแบบใคร ต้องมีบุคลิกหรือคาแรกเตอร์เฉพาะเป็นของตัวเอง ซึ่งคำแนะนำหลาย ๆอย่าง สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาตัวเอง นอกจากนี้ ยังได้รู้ถึงบทบาทที่แตกต่างกันของแต่ละอาชีพ  ที่สำคัญได้รับแรงบันดาลใจและกำลังใจไม่ให้ท้อแท้ในตามหาความฝัน ซึ่งต้องขอบคุณโครงการไฟ-ฟ้า ที่ไม่ทิ้งเด็ก ๆ มีกิจกรรมดี ๆ ต่อเนื่องตลอดปี แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไปเรียนที่ศูนย์ไม่ได้ แต่ก็มีคลาสห้องเรียนออนไลน์มาทำให้ได้เจอเพื่อน ๆ ทำกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน