โชห่วย..ชอปชุมชนที่ยังยืนหยัดท่ามกลางการโอบล้อมของ “โมเดิร์นเทรด”

742

โชห่วย ร้านค้าที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงและการเติบโตของโมเดิร์นเทรด แต่ร้านค้าโชว์ห่วยยังคงยืนหยัดอยู่ได้..เพราะอะไร?

            นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (อธิบดี สนค.) เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 8,428 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 87 คิดว่าร้านโชห่วยมีความจำเป็นต่อการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคสำหรับการดำรงชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก ซึ่งจะซื้อสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ และค่อนข้างบ่อย ภายในวงเงินไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง ข้อดีของร้านโชห่วย คือ สะดวกในการเดินทาง ราคาถูก และมีสินค้าแบ่งขาย ขณะที่มีข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุง คือ สินค้าไม่หลากหลาย สินค้ามีจำนวนน้อย การจัดวาง และความสะอาด รวมถึงการให้บริการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการยกระดับร้านโชห่วยของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร้านค้าโชห่วยเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และเป็นช่องทางในการลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคในชุมชน โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้

            •ความจำเป็นของร้านจำหน่ายสินค้า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 87.53 คิดว่า ร้านโชห่วยมีความจำเป็น โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 78 ในทุกอาชีพ เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคกลางมากที่สุด (ร้อยละ 91.75) และส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงมากนัก (ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน) (ร้อยละ 88.61) ขณะที่ความจำเป็นของร้านสะดวกซื้อ อยู่ที่ร้อยละ 88.02 และซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ อยู่ที่ร้อยละ 77.65

            •ร้านจำหน่ายสินค้าที่ผู้บริโภคนิยม พบว่า ร้านโชห่วยเป็นที่นิยมของผู้บริโภค อันดับ 2 (ร้อยละ 35.19) รองจากร้านสะดวกซื้อที่ผู้บริโภคนิยมสุงสุด (ร้อยละ 47.76) และซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เป็นที่นิยมอันดับ 3 (ร้อยละ 17.06)โดยผู้ที่นิยมซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 83.07) เมื่อพิจารณารายอาชีพ พบว่า เกษตรกรนิยมซื้อสินค้าในร้านโชห่วยมากที่สุด (ร้อยละ 62.49) เมื่อพิจารณารายภาค พบว่า ร้านโชห่วยได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคเหนือ (ร้อยละ 43.60) และได้รับความนิยมน้อยสุดในกรุงเทพและปริมณฑล (ร้อยละ 13.34)

            •จำนวนร้านจำหน่ายสินค้าแต่ละประเภทในชุมชน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ คิดว่า ร้านโชห่วยมี 2 – 3 ร้าน/ชุมชน ร้านสะดวกซื้อมี 1-2 ร้าน/ชุมชน และซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่มี 1 ร้าน/ชุมชน

            •สินค้าและบริการที่เลือกซื้อจากร้านต่าง ๆ ร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อจะเป็นการซื้อสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ มากที่สุด (ร้อยละ 44.93 และ 36.02 ตามลำดับ) สำหรับซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จะเป็นการซื้อสินค้าประจำเดือนมากที่สุด (ร้อยละ 54.68)

            •ความถี่ในการซื้อสินค้า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อเฉลี่ย 2-3 วัน/สัปดาห์ ขณะที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จะเป็นการซื้อสินค้าไม่เกินเดือนละครั้ง

            •ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงไม่เกิน 300 บาท ขณะที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จะอยู่ในช่วง 300 บาทขึ้นไป

            •ข้อดีของร้านโชห่วย/ร้านค้าชุมชน อันดับแรก คือ สะดวกในการเดินทาง (ร้อยละ 22.35) ราคาถูก (ร้อยละ 12.94) มีสินค้าแบ่งขาย (ร้อยละ 12.58) มีสินค้าที่ต้องการ (ร้อยละ 12.55) ความไว้วางใจ/คุ้นเคย/ความสัมพันธ์ที่ดี (ร้อยละ 12.05) สินค้ามีความหลากหลาย (ร้อยละ 7.52) มีมาตรการของรัฐสนับสนุน (ร้อยละ 7.31) เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ในชุมชน (ร้อยละ 6.08) คุณภาพตรงตามความต้องการ (ร้อยละ 4.42) มีสินเชื่อ (ร้อยละ 2.11) และอื่น ๆ (ใกล้บ้าน ไม่แออัด) (ร้อยละ 0.09)

            •จุดบกพร่องของร้านโชห่วย/ร้านค้าชุมชน อันดับแรกคือ สินค้าไม่หลากหลาย (ร้อยละ 28.94) สินค้ามีจำนวนน้อย (ร้อยละ 25.24) สินค้าใกล้หมดอายุ/หมดอายุ (ร้อยละ 10.69) ชำระด้วยเงินสดเท่านั้น (ร้อยละ 7.70) คุณภาพต่ำ (ร้อยละ 6.75) ราคาแพง (ร้อยละ 5.68) คิดเงินช้า (ร้อยละ 4.07) ระบบคิวไม่ดี (ร้อยละ 4.00) พูดจาไม่สุภาพ (ร้อยละ 3.80) และไม่สามารถเลือกสินค้าด้วยตนเองได้ (ร้อยละ 3.13)

            •สิ่งที่ร้านโชห่วย/ร้านค้าชุมชนควรปรับปรุง อันดับแรกคือ เพิ่มความหลากหลายของสินค้า (ร้อยละ 24.05) การจัดวางสินค้า (ร้อยละ 17.48) ความสะอาด (ร้อยละ 17.27) คุณภาพสินค้า (ร้อยละ 14.61) การจัดโปรโมชั่น (ร้อยละ 11.05) คุณภาพการบริการ/อัธยาศัย (ร้อยละ 4.94) เพิ่มบริการส่งสินค้าถึงบ้าน (ร้อยละ 4.26) ความรวดเร็วในการคิดเงิน (ร้อยละ 4.19) และระบบคิว (ร้อยละ 2.15)

            อธิบดี สนค. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายผลักดันและส่งเสริมเพื่อยกระดับร้านค้าโชห่วย/ร้านค้าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการจัดหาสินค้าให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพและต้นทุนต่ำ รวมถึงการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การอำนวยความสะดวก และการให้บริการ เพื่อให้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจจุดบกพร่อง และสิ่งที่ร้านโชห่วย/ร้านค้าชุมชนควรปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างมาก และการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับร้านสะดวกซื้อที่เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

            ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมเพื่อยกระดับร้านค้าโชห่วย ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสร้างสมาร์ทโชห่วย เป็นการพัฒนาร้านโชห่วยทันสมัย ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยการให้องค์ความรู้การบริหารจัดการร้านค้าปลีกแบบง่าย แนะนำการใช้เทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ในการอำนวยความสะดวก และบริหารจัดการร้านและสต็อก รวมถึงการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้มีความสะดวก สะอาด และทันสมัย โครงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ที่เชื่อมโยงร้านโชห่วยกับชุมชนและเครือข่าย เพื่อสร้างรายได้และก่อให้เกิดความยั่งยืน โดยสนับสนุนสินค้าราคาพิเศษจากผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่าย/ร้านค้าส่ง และเชื่อมโยงสินค้าชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการตลาด ร่วมกับสมาคมการค้าส่ง – ปลีกไทย โดยมุ่งให้ร้านค้าโชห่วยสามารถอยู่คู่กับคนไทยได้อย่างยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้เข้มแข็ง และยังมีส่วนช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืนต่อไป