สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย//การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร เผยข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2561 และแนวโน้มปี 2562 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมให้รายละเอียดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
มูลค่าการส่งออกอาหารปี 2561
เงินบาท 1,031,956 ล้านบาท
เงินดอลลาร์ 32,190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขยายตัวเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาท ร้อยละ 1.6
ขยายตัวเพิ่มขึ้นในรูปเงินดอลลาร์ ร้อยละ 7.3
สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก
อันดับ 1 ข้าว มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 17.5 มูลค่าส่งออก 180,116 ล้านบาท
อันดับ 2 ไก่ มีสัดส่วนร้อยละ 10.7 มูลค่าส่งออก 110,116 ล้านบาท
อันดับ 3 น้ำตาลทราย มีสัดส่วนร้อยละ 8.5
อันดับ 4 ปลาทูน่าปรุงแต่ง มีสัดส่วนร้อยละ 7.1
อันดับ 5 กุ้ง มีสัดส่วนร้อยละ 5.7
7 สินค้าหลักที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560
ข้าว (+8.0%)
ไก่ (+13.4%)
ปลาทูน่าปรุงแต่ง (+9.5%)
แป้งมันสำปะหลัง(+33.1%)
เครื่องปรุงรส(+12.5%)
มะพร้าว(+19.7%)
อาหารพร้อมรับประทาน(+10.6)
3 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง
น้ำตาลทราย(-3.0%)
กุ้ง(-12.7%)
สับปะรด(-27.8%)
ตลาดส่งออกอาหารสำคัญปี 2561
อันดับ 1 ญี่ปุ่น
อันดับ 2 จีน
อันดับ 3 เวียดนาม
อันดับ 4 อินโดนีเซีย
อันดับ 5 เมียนมาร์
อันดับ 6 กัมพูชา
อันดับ 7 มาเลเซีย
อันดับ 8 ฟิลิปปินส์
ตลาดอาหารสำคัญของไทย 6 ใน 8 ประเทศตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน เมื่อพิจารณาในกลุ่มภูมิภาค มีอันดับการส่งออกในแต่ละภูมิภาค ดังนี้
อันดับ 1 อาเซียน สัดส่วนร้อยละ 28.4 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด มีมูลค่าส่งออก 293,172 ล้านบาท
อันดับ 2 กลุ่มประเทศมุสลิม (OIC Country 57 ประเทศ) สัดส่วนร้อยละ 17.6 มีมูลค่าส่งออก 180,777 ล้านบาท
อันดับ 3 กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ ร้อยละ 11.8
อันดับ 4 แอฟริการ้อยละ 9.1
อันดับ 5 สหภาพยุโรป ร้อยละ 8.9
อันดับ 6 โอเชียเนีย ร้อยละ 3.4
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 14 ของโลกในปี 2560 โดยพิจารณาจากมูลค่าส่งออกอาหารในรูปดอลลาร์พบว่า ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.36 จากร้อยละ 2.34 ในปีก่อนหน้า ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ บราซิล และจีน ต่างมีส่วนแบ่งตลาดโลกลดลง ส่วนประเทศผู้ส่งออกอาหารที่สำคัญในภูมิภาคอย่างอินเดียและเวียดนาม ต่างก็มีส่วนแบ่งตลาดโลกลดลงเช่นกัน โดยอินเดียเป็นประเทศ
ผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ตกลงมา 2 อันดับ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 17 ของโลกดีขึ้น 1 อันดับ”
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,120,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากปี 2561 กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมีจำนวน 8 กลุ่ม ได้แก่ ไก่ ปลาทูน่าปรุงแต่ง กุ้ง มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส มะพร้าว สับปะรด และอาหารพร้อมรับประทาน ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวและน้ำตาลทราย โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย ปลาทูน่าปรุงแต่ง และกุ้ง
ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2562
1) การปลดล็อคใบเหลืองประมงไทยของสหภาพยุโรป ที่ทำให้ประเทศคู่ค้าเกิดความเชื่อมั่นในสินค้าประมงไทยมากขึ้น
2) สินค้าอาหารของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ที่สินค้าไทยครองตลาดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 – 60 รวมทั้งตลาดอาเซียนเดิมที่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าจำพวกข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป รวมทั้งอาหารฮาลาล
3) ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ
4) การเมืองไทยมีความชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ โดยมีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2562
1) ความผันผวนการเมืองระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ส่งกระทบทางอ้อมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้กำลังซื้อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อการจับจ่ายใช้สอยลดลงตามไปด้วย
2) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวตามทิศทางดอกเบี้ย Fed Fund rate ของสหรัฐฯ
3)การแข็งค่าของเงินบาท กระทบต่อสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะสินค้าที่เน้นตลาดต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา รวมถึงรายได้ที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทจะลดลง ทำให้ราคาสินค้าวัตถุดิบการเกษตรลดลงตามไปด้วย
4)รายได้ผู้บริโภคลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจ
5)สหรัฐฯตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 11 รายการ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่สินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าวมีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 ในตลาดสหรัฐฯ โดย 6 ใน 11 รายการ อยู่ในกลุ่มสินค้าอาหาร ประกอบด้วยทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะละกอแปรรูป มะขามตากแห้ง ข้าวโพดปรุงแต่ง และผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม