สำนักงานสลากฯ เผยโฉม 10 ชุมชน คนสร้างสรรค์ พร้อมยกระดับสู่ “ชุมชนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน”

741

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมด้วย พันตำรวจเอก บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมแถลงข่าวโครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชน ปี 3 โดยมีผู้แทนชุมชนปีที่ 1 – ปีที่ 2 พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาโครงการ พันธมิตรเพื่อการพัฒนาชุมชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในรูปแบบการแถลงข่าวออนไลน์

            รองศาสตราจารย์ ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า สำนักงานสลากฯมีความมุ่งมั่นดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ ในการเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นนวัตกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม เป็นที่ยอมรับของประชาชน กิจกรรมหนึ่งที่ตอบสนองวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม คือ การให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบและการสร้างคุณค่าร่วมให้กับชุมชน  เพื่อเป้าหมายการมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ของสมาชิกในชุมชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจของประเทศเป็นระดับต่อไป 

            ทั้งนี้ ด้วยการให้ความสำคัญต่อวิสัยทัศน์ และคำนึงถึงเป้าหมายดังกล่าว ทางสำนักงานสลากฯ จึงริเริ่มโครงการสลากสรรค์สร้างเพื่อชุมชนมาตั้งแต่ปี 2562  มีชุมชนได้รับการพัฒนา 17 แห่ง และสำนักงานสลากฯ ดำเนินงานก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน             ซึ่งเป็นปีที่ 3 ด้วยหลักคิดการพัฒนาโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนขับเคลื่อนพัฒนาการบริหารจัดการชุมชน ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและบริการที่มีเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ มีความสุขจากความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้มีความมั่นคง ยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติดหรือการเล่นพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน รวมถึงการพนันอื่นๆ ซึ่งสำนักงานสลากฯ มีความแน่วแน่ในการ ไม่สนับสนุนให้เล่นการพนันทุกประเภท

            รองศาสตราจารย์ ดร. ธนวรรธน์ กล่าวถึงการดำเนินงานในปีที่ 3 ว่า ภายใต้สถานการณ์ COVID สำนักงานสลากฯ มองว่าวิกฤตินี้ คือ “โอกาส” ที่ยิ่งใหญ่ ในการ “ซ่อม สร้าง เสริม” ชุมชนให้แข็งแกร่ง พร้อมที่จะเข้าสู่ยุคต่อไปของความปกติใหม่ ที่มีทั้งความท้าทายทางการตลาด การเปลี่ยนแปลง ของพฤติกรรมผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว รวมถึงกระแสนิยมของโลกใบนี้ที่หมุนเปลี่ยนไปในทุกวินาที จึงได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนชุมชนในจังหวัดการท่องเที่ยวรอง สมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีชุมชนสมัครมาทั้งสิ้น 68 แห่ง และคณะกรรมการได้เชิญผู้แทนชุมชนรับการสัมภาษณ์ และพิจารณาคัดเลือกชุมชนที่มีแนวคิดพร้อมจะสร้างคุณค่าการพัฒนาเชิงพื้นที่ มีทรัพยากรและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่า       สร้างเรื่องราวอันน่าประทับใจนำเสนอไปยังกลุ่มตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพได้อย่างตรงจุด เข้าร่วมโครงการฯ ปีที่ 3 รวม 10 ชุมชน ดังนี้

            1.         ชุมชนริมคลองประเวศฝั่งเหนือ กรุงเทพมหานคร

            2.         ชุมชนบ้านคลองบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี

            3.         ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด จังหวัดจันทบุรี

            4.         หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี  บ้านท่ามะขาม จังหวัดราชบุรี

            5.         ชุมชนบ้านวังต้น จังหวัดนครนายก

            6.         กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลมสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี

            7.         ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง จังหวัดลพบุรี

            8.         ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา จังหวัดชัยนาท

            9.         พิพิธภัณฑ์ชุมชนจันเสน จังหวัดนครสวรรค์

            10.       ศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง จังหวัดอุทัยธานี

            รองศาสตราจารย์ ดร. ธนวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยแนวคิดในยุค New Normal การดำเนินงานโครงการฯ ในปีที่ 3 จึงเน้นการพัฒนาและสร้างเครือข่ายในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวให้กับชุมชนเป้าหมาย การนำทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทชุมชนมาขับเคลื่อนการพัฒนาการบริหารจัดการชุมชน การนำผลิตภัณฑ์ชุมชนและบริการชุมชนที่มีเอกลักษณ์จากทุนสร้างสรรค์ของชุมชนมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว ผ่านการเสริมศักยภาพสู่โอกาสใหม่ทางการตลาด ภายใต้ GLO Creative Community ซึ่งเป็น DNA ของโครงการฯปีนี้ ได้แก่ “Growth” เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นพร้อมรับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน , “Local Wisdom” เป็นชุมชนที่มีเรื่องราวจากภูมิปัญญาพื้นถิ่น และ “Online” เป็นชุมชนที่สามารถเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาด Online Platform ต่างๆได้ เพื่อยกระดับชุมชนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 10 แห่ง สู่ “ชุมชนการท่องเที่ยว   เชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน” ให้สามารถ “ช้อป-ชิม-ชม สร้างรายได้ตลอด 24 ชั่วโมง” รับเทรนด์การท่องเที่ยวยุค Next Normal 

            โดยกระบวนการพัฒนาซึ่งจะเป็นปัจจัยความสำเร็จของโครงการฯ ปีที่ 3 สำนักงานสลากฯ จะใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ของบุคลากรและเครือข่ายที่ปรึกษาบูรณาการความร่วมมือผ่านกิจกรรมที่หลากหลายต่างๆที่เน้นกระบวนการมส่วนร่วมกับชุมชน อาทิ การจัดคณะที่ปรึกษาให้กับทุกชุมชนรวม 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านกลยุทธ์การตลาด , ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ , ด้านการพัฒนาอาหาร , ด้านการพัฒนาประสบการณ์ท่องเที่ยว และด้านดิจิทัล การจัดนิทรรศการและจำหน่ายสินค้าที่สำนักงานสลากฯในรูปแบบ O2O  การจัดทำเครื่องมือสื่อสารทางการตลาด และที่พิเศษสำหรับปีนี้ คือ การทดสอบและเผยแพร่การท่องเที่ยววิถีชุมชนในระดับสาธารณะ ผ่าน Youtuber ที่มีชื่อเสียง การจัดทำแผนการยกระดับชุมชนฯ , แผนการตลาดออนไลน์ และแผนการเชื่อมโยงความสำเร็จเชิงพาณิชย์ให้กับทุกชุมชน และสำนักงานสลากฯยังจัดทำ “GLO Selected” ในรูปแบบ CATALOG Online นำเสนอผลิตภัณฑ์/บริการเด่นของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปีที่ 1 – ปีที่ 3 เพื่อผลักดันให้เกิดความสำเร็จเชิงพาณิชย์แบบเร่งรัด (Quick win) และต่อยอดสู่ความสำเร็จที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป