“สำนักงาน คปภ. – สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร” ลงนาม MOU ผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรกรรมด้วยระบบประกันภัย

397

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ณ ห้อง 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมลงนาม และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และมีผู้บริหารของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผู้บริหารของสำนักงาน คปภ.      ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตรอย่างยั่งยืน       ซึ่งครอบคลุมถึงพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ประมง ป่าไม้ และบริการทางการเกษตร ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงระบบประกันภัยในทุกมิติของความเสี่ยง

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. และ สศก. ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางการพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน โดยผลักดันให้ระบบประกันภัยเข้าไป    เป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และเกิดบ่อยครั้งขึ้น จากสภาวการณ์ของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง อาทิ น้ำท่วม ลมพายุ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ดังนั้น การลดความเสี่ยงภัยด้วยระบบประกันภัยจึงมีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐในการชดเชยเยียวยาเกษตรกร และที่สำคัญเกษตรกรสามารถนำเงินที่ได้รับจากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน          ไปดำเนินการเพาะปลูกใหม่ รวมถึงเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้อีกด้วย

สำนักงาน คปภ.  ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตลอดจนการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมการประกันภัยด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้สนับสนุนให้ภาคธุรกิจประกันภัยศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สำคัญและจำเป็น เพื่อให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจ         ที่สำคัญของประเทศ อาทิ การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้ง และได้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ อาทิ การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ และการประกันภัยประมง นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์   โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ ตลอดจนส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านการเกษตรที่มีความหลากหลายมากขึ้น 

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และยั่งยืน สำนักงาน คปภ. จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร กับ สศก. ซึ่งมีกรอบการดำเนินงานร่วมกันใน4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและข้อมูลทางวิชาการ 2) การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยการเกษตร เพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์และประเมินผล สำหรับการตัดสินใจของผู้บริหารและการปฏิบัติงาน 3) ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์   และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการประกันภัยการเกษตร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ และ 4) การสนับสนุน ร่วมมือ และการประสานงานในด้านอื่น ๆ รวมทั้งการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ระบบประกันภัย

นอกจากนี้ พี่น้องเกษตรกรยังจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การพัฒนาระบบการประกันภัยสินค้าเกษตร        ที่เหมาะสมและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในบริหารจัดการความเสี่ยง อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยการเกษตรได้ตรงกับความเสี่ยง ซึ่งทำให้       ภาคเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งมีกลไกในการบริหารความเสี่ยงแบบครบวงจร สำหรับในระยะแรก       จะเป็นการประสานความร่วมมือ ในรูปแบบประสานงานด้านการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยการเกษตร ระยะต่อไปจะเป็นการยกระดับความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ API เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน และสามารถค้นหาข้อมูลได้ทันที ทั้งนี้ เพื่อให้การประสานความร่วมมือเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ จะได้จัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร เพื่อขับเคลื่อนภารกิจตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ      และติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานต่อไป

“สำนักงาน คปภ. และ สศก. จะร่วมส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนทั้งองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนา                ขีดความสามารถในการส่งเสริมการประกันภัยด้านการเกษตร แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการ      ของเกษตรกรตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับและเข้าถึงการเกษตรใหม่ ๆ     แบบครบวงจร การทำ MOU ระหว่างสองหน่วยงานจะเป็นจุดเริ่มของการบูรณาการความร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนควบคู่กับการส่งเสริมการประกันภัยด้านการเกษตรให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย