มหิดลร่วมเครือข่ายจังหวัดน่านและซินเจนทา สร้างมาตรฐานความปลอดภัยจากสวนสู่จาน

545

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ เครือข่ายชุมชนจังหวัดน่าน และซินเจนทา สรุปผลโครงการ “รักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อม” สร้างมาตรฐานความปลอดภัยการใช้สารกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชภาคเกษตรกรรม โดยได้ผลตอบรับดีเยี่ยม ประสบความสำเร็จ หวังขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้ผลผลิตปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP ลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

            รศ. ดร. สรา อาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการ รักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อม ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2564 ได้ดำเนินงานร่วมกันในหลายภาคส่วนจากเครือข่ายชุมชนจังหวัดน่าน และบริษัท ซินเจนทาฯ เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสหกรณ์จังหวัดน่าน กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดน่าน รวมทั้ง สร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และวิทยากรมืออาชีพ ให้ความรู้ สนับสนุนการทำงาน และติดตามผลการทำงานของเกษตรกรเรื่องความปลอดภัยในการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องตามมาตรฐานการเพาะปลูกปลอดภัยแบบ GAP”

            หัวใจของความสำเร็จในการดำเนินโครงการนี้ คือ 1) การเข้าไปสำรวจ ศึกษาและทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ในเบื้องต้น เพื่อรับทราบถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของเกษตรกรโดยองค์รวม หลังจากนั้น 2) ได้ออกแบบแนวทางการให้ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วม ส่งเสริมด้วยการฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น นวัตกรรมเรียนรู้แบบใหม่ หรือ Innovative Education ครอบคลุมเนื้อหา พิษวิทยา การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน 5 ช. การฉีดพ่นสารเคมี หรือ five golden rules การดูแลสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางการขยายเครือข่ายการทำงานและส่งต่อความรู้ แล้วจึง 3) นำมาถ่ายทอดให้กลุ่มผู้นำทั้งเกษตรกร ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องใน 15 อำเภอของจังหวัดน่าน และ 4) ผู้นำเกษตรกรถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไปยังคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการส่งต่อความรู้และแนวทางการปฏิบัติไปยังเกษตรกรในแต่ละครัวเรือนได้ต่อไป

            หลักปฏิบัติการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน 5 ช. หรือ five golden rules เป็นองค์ความรู้จากบริษัท ซินเจนทาฯ ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรเกิดการจดจำและนำไปปฏิบัติได้ง่าย ประกอบด้วย 1) ชัวร์ อ่านและทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ 2) ใช้ สารฯ ด้วยความระมัดระวังในทุกขั้นตอน  3) เช็ก ดูแลอุปกรณ์และเครื่องพ่นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 4) ชุด สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่เหมาะสมและถูกต้อง 5) ชำระ ปฏิบัติตนให้มีสุขอนามัยดีอยู่เสมอ

          นางสาวกุนณัทฐา ศรีม่วง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดน่าน กล่าวเสริมว่า “การดำเนินโครงการนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และภารกิจหลักของสำนักงานฯ ที่ว่า เป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองแรงงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างเป็นมาตรฐาน และสร้างสันติสุขในวงการแรงงาน โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้ประสานงานและติดตามการทำงานของกลุ่มเกษตรกรอย่างใกล้ชิดร่วมกับเครือข่ายในจังหวัดน่าน ทั้งการนัดหมายแต่ละพื้นที่ล่วงหน้า จัดอบรมให้ความรู้ ฝึกปฏิบัติ และติดตามผล เพื่อสังเกตผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีเกษตรอย่างปลอดภัย โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต”

            ด้าน ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ นายเสกสถิต ทารินทร์ กำนันตำบลม่วงตึ๊ด กล่าวสนับสนุนเพิ่มเติมว่า “ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ คิดว่าตนเองนั้นปฏิบัติถูกต้องแล้ว เมื่อได้รับฟังและการสาธิตจากอาจารย์ ทำให้ทราบว่า สิ่งที่ปฏิบัตินั้นยังไม่ถูกต้องและไม่เพียงพอ อาทิ การสวมรองเท้าบูทที่ถูกต้องต้องเมื่อจะพ่นสารเคมีคือต้องเอาเอาขากางเกงอยู่ด้านนอกรองเท้า หรือ การเลือกใช้หัวฉีดพ่นให้ถูกต้องกับสารเคมีแต่ละประเภทเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ อาจารย์ได้ถ่ายทอดทั้งความรู้ เทคนิค และเปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกคนได้ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้ทุกคนจดจำและนำกลับไปดำเนินการต่อได้อย่างปลอดภัย ปัจจุบัน ทุกตำบลใน 15 อำเภอของจังหวัดน่านได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเรียบร้อยแล้ว และมีการขยายผลสร้างเครือข่ายวิทยากรมืออาชีพเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง”

            “โครงการนี้ ประสบความสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้มีเครือข่าย อาสาสมัคร วิทยากร รวมเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ทำให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเริ่มต้นให้ผลผลิตจากสวนหรือฟาร์มต่าง ๆ สู่จานอาหารผู้บริโภคมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เพราะด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกเรื่องมีความเสี่ยง การที่เราอยู่กับความเสี่ยง ย่อมต้องรู้ธรรมชาติและเท่าทันความเสี่ยงนั้น ดังนั้น การใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องและใช้อย่างปลอดภัย ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร นำไปสู่ความปลอดภัยทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด” รศ. ดร. สรา อาภรณ์ กล่าวสรุป

            สำหรับผู้ที่สนใจโครงการรักษ์เกษตรและสิ่งแวดล้อม สามารถดาวโหลดและแชร์วิดิโอเพื่อถ่ายทอดความรู้ได้ที่ช่อง Youtube: Farm Safety