ปัญหาและโอกาสของมหาวิทยาลัยไทยจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก

2519

ปัจจุบันประเทศไทยเราอยู่ในโลกาภิวัฒน์ และวงการศึกษาไทยก็อยู่ในการแข่งขันในระดับโลกาภิวัฒน์หรือการแข่งขันในระดับโลก ในทุกการแข่งขันก็จะมี 2 สิ่งที่สำคัญคือ ปัญหาและโอกาส ถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาได้เราก็จะมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับประเทศมีมานานนับหลายทศวรรษแล้ว มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศตนเอง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับอาจารย์ นักวิชาการศึกษา นักศึกษาในการตัดสินใจที่จะเลือกมหาวิทยาลัยต่างๆ และภาครัฐและภาคเอกชนใช้ข้อมูลในการตัดสินใจที่จะจัดสรรทุนและสนับสนุนด้านงบประมาณ ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 เล่ากันว่าอาจารย์หลิวจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ได้คิดริเริ่มการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก เพื่อใช้ข้อมูลในการเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ กับมหาวิทยาลัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน วัตถุประสงค์คือการวัดความก้าวหน้าด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยของประเทศยุโรปและอเมริกา และเพื่อผลักดันความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยจีน อีกทั้งใช้เป็นข้อเสนอในการจัดสรรงบประมาณสู่ภาคการศึกษา หน่วยงาน และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจีน

ต่อมาปี พ.ศ. 2547 องค์กรของ Time Higher Education (THE) จากกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ จึงได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยอันดับโลกขึ้นอย่างเป็นทางการจนกระทั่ง พ.ศ. 2553 องค์กรของ Time Higher Education มีความคิดที่แตกแยกเรื่องตัวชี้วัดและน้ำหนักตัวชี้วัด จึงแตกออกมาเป็นอีกองค์กรหนึ่งเรียกว่า QS World University Rankings จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนกระทั่งปัจจุบันนี้มีสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกมากถึง 40 แห่ง แต่ว่ามีเพียง 3 แห่งที่มีอิทธิพลสูงและได้รับความสนใจจากทั่วโลก ซึ่งแต่ละสถาบันก็เน้นตัวชี้วัดและน้ำหนักตัวชี้วัดที่แตกต่างกันไป

  1. Academic Ranking of World Universities (ARWU)
  2. Time Higher Education (THE)
  3. QS World University Rankings (QS)

ARWU เป็นการจัดอันดับโลกของกลุ่มจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เก่า ซึ่งจะเน้นตัวชี้วัดที่สามารถวัดได้อย่างจริงจัง ไม่เน้นการสำรวจความคิดเห็น แต่เน้นรางวัลโนเบล หรือรางวัลระดับชาติและนานาชาติของแต่ละสาขาการศึกษา อีกทั้งยังเน้นการจัดการเรียนการสอนและผลงานวิจัย และการอ้างอิงงานวิจัยที่สำคัญ ส่วน THE เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกซึ่งใช้ตัวชี้วัดจากการสำรวจความคิดเห็น เป็นตัวชี้วัดที่มีน้ำหนักมากถึง 30% และมีการผสมผสานการเรียนการสอน ผลงานวิจัยและการอ้างอิงผลงานวิจัยระดับสูง ส่วนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 3 คือ QS ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยวิธีการสำรวจความคิดเห็นมหาวิทยาลัยดีเด่น และสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการหรือผู้จ้างงาน จากกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกซึ่งให้น้ำหนักมากถึง 50% ของตัวชี้วัดทั้งหมดและงานวิจัย การอ้างอิงงานวิจัย และสัดส่วนของอาจารย์ต่างชาติและนักเรียนต่างชาติ 

ปัญหาของเกณฑ์การวัดการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก

เกณฑ์การวัด ตัวชี้วัดและน้ำหนักของตัวชี้วัดของการจัดอันดับแต่ละสถาบันมักจะมีข้อดีข้อเสีย จุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกันไป แต่ก็ยังเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การเก็บข้อมูลมีข้อบกพร่องน้อยลง โดยธรรมชาติของการจัดอันดับโลกทั่วไปแล้ว มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีชื่อเสียงมาช้านานมักจะได้เปรียบ เพราะเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศและทั่วโลก มีศิษย์เก่ามากมายทั่วโลก อีกทั้งมหาวิทยาลัยใหญ่ๆที่มาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการเรียนการสอน การใช้ทำงานวิจัย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย มักจะมีความได้เปรียบสูง เนื่องจากภาษาอังกฤษไม่ใช่เป็นเพียงภาษาธุรกิจที่ใช้กันทั่วโลก ยังเป็นภาษาสากลของนักวิจัย และนักวิชาการทั่วโลก ดังนั้น มหาวิทยาลัยที่ใช้การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ หรือมหาวิทยาลัยระดับประเทศที่มีสาขาวิชานานาชาติ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนและการทำวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์ จึงมีความได้เปรียบกว่ามหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาของตนเองเป็นหลักในการเรียนการสอนการทำงานวิจัย

อนึ่ง มหาวิทยาลัยที่เน้นคณะแพทย์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จะมีความได้เปรียบในด้านผลงานวิจัย การอ้างอิงผลงานวิจัย และทุนวิจัย มากกว่ามหาวิทยาลัยที่เน้นด้านสังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ และศิลปศาสตร์ อีกทั้งมหาวิทยาลัยที่มีนโยบายที่จะเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยในภาคภาษาอังกฤษก็จะมีความได้เปรียบมากกว่ามหาวิทยาลัยของประเทศต่างๆ ซึ่งตีพิมพ์งานวิจัยเป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย ภาษาอาหรับ หรือแม้กระทั่งภาษาไทย

ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งก็คือมหาวิทยาลัยที่มีเว็ปไซต์เครือข่าย ฐานข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษที่สามารถค้นคว้าและหาข้อมูลได้ เข้าถึงได้โดยนักวิชาการและนักวิจัยจากทั่วโลก จะมีความได้เปรียบต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ต้องมีผลงานตามตัวชี้วัดระดับโลก ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลนั้นให้หน่วยงานจัดอันดับทราบ อีกทั้งมหาวิทยาลัยที่มีสัดส่วนของอาจารย์นานาชาติ และนักศึกษานานาชาติมากจะมีความได้เปรียบในการจัดอันดับเนื่องจากเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง

 

โอกาสและประโยชน์ของมหาวิทยาลัยไทยจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก

ปัจจุบันนี้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเป็นเรื่องสำคัญและมีอิทธิพลต่อมหาวิทยาลัย นักเรียน อาจารย์และนักการศึกษาไปทั่วโลกแล้ว ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราก็จะถูกจัดอันดับไปโดยอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับสูงๆ ก็จะเป็นหน้าเป็นตาเป็นเกียรติแก่ประเทศนั้นๆ ว่ามีความก้าวหน้าด้านการศึกษาระดับโลก ดังนั้นมหาวิทยาลัยในทวีปเอเซีย เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีการสนับสนุนด้านงบประมาณและผลักดันอย่างจริงจังให้มหาวิทยาลัยจากประเทศตนติดอันดับ 1-100 เป็นต้น

ส่วนในประเทศอาเซียน นอกจากสิงคโปร์แล้วประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย มีการตื่นตัวอย่างสูงและมีความพร้อมที่จะผลักดันการจัดอันดับเป็นอย่างสูง ส่วนประเทศไทยมีการตื่นตัวพอสมควรแต่ยังไม่มีการแข่งขันที่รุนแรงหรือนโยบายที่ชัดเจน ประเทศส่วนใหญ่ที่พัฒนาแล้วใช้การจัดอันดับโลกเป็น Benchmark หรือเป็นตัววัดในการแข่งขันพัฒนามหาวิทยาลัยตนเองให้สู่อันดับที่สูงขึ้น หรือพัฒนาคณะและสาขาที่มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่น และใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณและทุนการศึกษา ปัจจุบันทุนของรัฐบาลและทุนการศึกษาของเอกชนมักจะเน้นให้นักศึกษาที่ได้ทุนไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในดับดับ 1-100 1-200 และ 1-500 ของโลก เป็นต้น และผลจากการสำรวจของนักเรียนต่างชาติที่ไปเรียนระดับปริญญาตรี โท เอก มักจะใช้ข้อมูลในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเป็นตัวเลือกในด้านการศึกษา ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับสูงๆ จะถูกเลือกโดยนักศึกษาเก่งๆ ผลของการจัดอันดับจะเกิดเป็นจุดขายที่สำคัญและเป็นจุดแข็งในการแข่งขันด้านการตลาดในยุคโลกาภิวัฒน์ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกทำให้เกิดการจัดลำดับระดับเอเซีย ระดับอาเซียน ระดับชาติ หรือแม้แต่กระทั่งมหาวิทยาลัยระดับใหญ่ในประเทศ ระดับกลางหรือเล็กในประเทศ หรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับราชภัฏ เป็นต้น

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ทำให้เกิดกระแสแนวทางการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านงานวิจัยระดับนานาชาติเป็นภาษาอังกฤษ และการอ้างอิงผลงานวิจัยระดับนานาชาติเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งความสำคัญในด้านการเผยแพร่งานวิจัยระดับนานาชาติ   ทำให้เกิดกระแสของการเปลี่ยนแปลงในการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณของชาติสู่มหาวิทยาลัยที่มีผลการจัดอันดับสูง คณะหรือสาขาวิชา และอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นระดับนานาชาติเป็นภาษาอังกฤษ และผลงานวิจัยระดับนานาชาติเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลงานวิชาการระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ ในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ อาจารย์และนักวิชาการที่มีผลงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษระดับนานาชาติที่ตีพิมพ์อยู่ในฐาน เช่น Thomson Reuters และ Scopus ที่มีการอ้างอิงสูงสามารถพิสูจน์ได้ทางออนไลน์ก็จะเป็นอาจารย์นักวิชาการที่มีเกียรติ มีมูลค่าสูง ได้รับค่าตอบแทนสูงเป็นที่ต้องการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกนี้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในด้านจุดแข็งและจุดอ่อน ข้อดีข้อเสียของตัวชี้วัด และน้ำหนักตัวชี้วัด แต่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกนี้ก็ทำให้เกิดกระแสการแข่งขันที่มีตัวชี้วัดและน้ำหนักตัวชี้วัดที่จะมีการพัฒนาสู่สากล ดังนั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยและกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องตื่นตัวและพัฒนาตนเองให้เข้ากับบริบทการแข่งขันด้านการศึกษาระดับโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ และเข้าสู่กระบวนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กวิน วงศ์ลีดี

ผู้อำนวยการสถาบันสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา