นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ หวั่นงบประมาณสู้วิกฤติโควิด-19 ไม่เพียงพอ หลังร่างงบประมาณปี 65 วาระ 3 ผ่านการลงมติของรัฐสภา ชี้ภาครัฐควรกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท พร้อมกับเร่งเบิกจ่ายเงินกู้ที่เหลืออยู่และปรับเพดานหนี้ให้เหมาะสม เพื่อเร่งเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ติดตามการอภิปรายร่างงบประมาณปี 65 วาระสองและสามอย่างใกล้ชิด เข้าใจดีว่างบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาทนั้นเกิดจากการที่ภาครัฐมีรายจ่ายมากขึ้น และไม่สามารถเก็บภาษีได้มากตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ต้องปรับลดงบในบางส่วนลง แต่ทีมเศรษฐกิจ ปชป. มีความเป็นห่วงว่างบประมาณดังกล่าวอาจไม่ตอบโจทย์กับช่วงวิกฤติโควิด-19 เพราะยังมีอีกหลายภารกิจที่ภาครัฐต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อเยียวยาทุกภาคส่วนให้ทันท่วงที ตรงจุด และเหมาะสม รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้อย่างเต็มที่
จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเร่งกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท โดยอย่ากังวลเรื่องเพดานหนี้มากนัก เพราะเพดานหนี้สาธารณะยังสามารถขยายเพิ่มเติมได้อีกในภาวะวิกฤติที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ไม่จำเป็นต้องกำหนดที่ 60% ของ GDP เสมอไป ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และหลายประเทศในยุโรป ก็มีเพดานหนี้ที่สูงกว่า 100% ดังนั้นควรปรับเพดานหนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะดีกว่า ประกอบกับตอนนี้ภาพรวมในด้านความเสี่ยงทางการคลังยังคงสมเหตุสมผล ภาคเศรษฐกิจไทยยังรองรับได้ และดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวในช่วงนี้ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหมาะสมที่จะกู้เพิ่มเติมเพื่อมาใช้ในยามจำเป็นที่สุดแล้ว หากตัดสินใจช้าหรือรอไปกู้ในอนาคต อาจต้องแบกรับภาระที่หนักขึ้น เพราะในปีหน้านั้นมีสัญญาณว่าดอกเบี้ยทางอเมริกาจะปรับตัวสูงขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการนำเงินมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด เพื่อการฟื้นฟูและเติบโตในระยะยาวของประเทศ โดยควรมีแผนการใช้เงินกู้ ดังนี้
1.ใช้เยียวยากลุ่มคนที่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างตรงจุด หรือยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ตามที่ทางทีมเศรษฐกิจได้นำเสนอต่อศบค. ไปแล้วหลายครั้ง อาทิ กลุ่มอาชีพอิสระ อาชีพกลางคืน นักดนตรี ศิลปิน อีเว้นท์ ฟิตเนส หมอนวดแผนโบราณ ลูกจ้างในร้านอาหาร เป็นต้น เพราะถึงแม้จะมีมาตรการเยียวยาออกมาบ้างแล้ว แต่ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากการโดนสั่งปิดกิจการอย่างยาวนาน
2. ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการปรับโครงสร้างการผลิต เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) รวมถึงการลงทุนในระบบหุ่นยนต์ (Automations) เพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้ ต่อหัวของพี่น้องคนไทยและกลุ่มเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เพื่อให้ก้าวทันนานาชาติ ควบคู่ไปกับการเร่งจัดซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้คนไทยอย่างทั่วถึงเพื่อให้ธุรกิจกลับมาเปิดได้เป็นปกติในเร็ววันและสนับสนุนการพัฒนาการผลิตวัคซีนของไทยเราเอง
3. จัดสรรงบประมาณมาพัฒนาด้านการสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อแก้ไขปัญหาการตกงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสร้างแรงงานฝีมือยุคใหม่ที่มีศักยภาพและขีดความสามารถสูงขึ้น เหมาะสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล หลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว การลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มปฐมวัยสำคัญมาก รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ต้องปรับทักษะสมรรถนะผ่านการเทรนแบบใหม่ อาทิเช่นโครงการ เรียนจบพบงานที่ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำเป็นกะบะทราย
4. การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจยุคใหม่เช่น การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การบริหารจัดการขยะและพลังงานบริสุทธิ์ สินค้าเกษตรออินทรีย์เป็นต้น
5. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนโดนกระทบหนักจากวิกฤติรอบนี้ ภาครัฐต้องมีแผนการกระจายอํานาจไปสู่ท้องถิ่นและสนับสนุนการเติบโตของวิสาหกิจชุมชน เช่นการสร้างแหล่งน้ำชุมชน ยกระดับระบบและคุณภาพการบริการของสาธารณสุขชุมชนเป็นต้น
6. การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อบ่มเพาะนวัตกรรมและสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่เราต้องใช้ในอนาคต ปัจจุบันสัดส่วนของการลงทุนนี้ยังต่ำกว่า 1% ของ GDP ซึ่งน่าเป็นห่วงถ้าเราไม่เร่งพัฒนา รัฐสามารถทำร่วมกับเอกชนและสร้างแรงจูงใจให้เอกชนลงทุนมากขึ้น
7. การสร้างรัฐบาลดิจิตอล (e-Government)ที่โปร่งใสและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น ตามที่ทางทีมเศรษฐกิจ ปชป เคยเสนอไปแล้วว่ารัฐบาลต้องนําร่องในการปฏิรูประบบรัฐราชการที่ล่าช้าและไม่ตอบสนองความต้องการของสังคมดิจิตอล ที่ควรมีการนําข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ (OpenGov) และปรับปรุงพัฒนากระบวนการทํางานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ (GovTech) เพื่อบริการประชาชนได้ดีขึ้นและขจัดการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงการสังคยานากฎหมาย (Regulatory Guillotine)
8. การเข้ามามีบทบาทเชิงรุกที่จะสร้างกลไกสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อ เพิ่มสภาพคล่องให้กับสตาร์ทอัพและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs เพื่อให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรมอย่างแท้จริงเพราะมาตราการ Soft Loans ตอนนี้ยังไม่ตอบโจทย์ อีกทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องสนับสนุนสตาร์ทอัพและวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ของคนไทย
“เมื่อครั้งที่รัฐบาลมีพ.ร.ก. เงินกู้เพิ่ม 5 แสนล้านคราวก่อน ทางทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ได้เคยแสดงความคิดเห็นไปแล้วว่างบประมาณเท่านั้นไม่เพียงพอกับการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูประเทศ ควรกู้อย่างต่ำ 1 ล้านล้านให้ครั้งเดียวจบ เพราะไม่ว่าจะเป็นการกู้เงิน หรือการปรับเพดานหนี้สาธารณะ ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้ในช่วงวิกฤตแบบนี้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ได้คือการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด” นายปริญญ์กล่าว