บริษัทกลางฯ เปิดรับสมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 20 จังหวัด เข้าร่วม “โครงการวงเวียนช่วยชีวิต” ระดมพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ
สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ในประเทศไทย มีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนที่ปราศจากความระมัดระวัง รวมถึงสภาพรถ สภาพถนนและสภาพสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน www.thairsc.com ปี 2563 มีการรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 15,744 ราย และมีผู้บาดเจ็บสูงถึง 1,014,266 คนและจากข้อมูลผู้ประสบภัยจากรถดังกล่าว พบว่าอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่ เกิดในถนนทางตรงสูงถึงร้อยละ 63 รองลงมาคือ ทางโค้งร้อยละ 18 และทางแยกร้อยละ 11 ส่วนบริเวณ “วงเวียน”อุบัติเหตุเป็นศูนย์ และอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นที่ถนนสายรอง ถนนในชุมชน และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางในระยะใกล้ๆ เพราะผู้ใช้รถจะไม่ค่อยระมัดระวัง โดยเฉพาะตามสี่แยกต่างๆ ที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร เป็นจุดเสี่ยงจุดอันตราย เมื่อรถมาเจอกัน ก็ต้องวัดใจกัน ใครจะหยุด ใครจะไป ซึ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา และถ้าทุกคนไม่หยุด ก็จะเกิดอุบัติเหตุและมีความรุนแรงค่อนข้างสูงเนื่องจากผู้ขับขี่ต่างใช้ความเร็วเพราะไม่มีสัญญาณไฟควบคุม การเปลี่ยนทางแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรให้เป็นวงเวียนจะช่วยปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้ลดความเร็วลงและมีความระมัดระวังมากขึ้น
บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด มุ่งมั่นรณรงค์เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของถนนสายรองในชุมชน/ท้องถิ่น โดยเฉพาะสี่แยกอันตรายที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร จึงได้จัดทำ “โครงการวงเวียนช่วยชีวิต” โดยวงเวียนเป็นเครื่องมือในการจัดการ จุดเสี่ยง จุดอันตราย เพื่อให้ชุมชุน ท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการจัดการจุดเสี่ยง จุดอันตราย เพิ่มความปลอดภัยทางถนนของชุมชน ด้วยการจัดการแก้ไข ปรับปรุงบริเวณทางแยกอันตรายของชุมชนให้เป็นวงเวียนเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และยังช่วยลดความเร็วของรถลงได้ “วงเวียน”ยังสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ถึง 40-50% และยังช่วยลดความรุนแรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ วงเวียนจึงเป็นเป้าหมายหลักของชุมชนที่มีแยกวัดใจและไม่มีสัญญาณไฟจราจร ใช้เป็นเครื่องมือป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
บริษัทกลางฯ จึงได้เลือกชุมชนหรือท้องถิ่นที่มีความเสี่ยงสูง 20 จังหวัด เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำวงเวียนเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการจุดเสี่ยงจุดอันตรายในการสร้างความปลอดภัยให้ชุมชน จากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน www.thairsc.com พบว่า ในปี 2563 จังหวัดที่มีสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด 20 ลำดับแรกของประเทศ ยกเว้นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชลบุรี เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น เชียงราย สมุทรปราการ ปทุมธานี ระยอง ลพบุรี สกลนคร อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครศรีธรรมราช สระบุรี ศรีสะเกษ และสุราษฎร์ธานี มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 6,992 ราย และผู้บาดเจ็บ 460,308 ราย
จึงขอเชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั้ง 20 จังหวัด สมัครเข้าร่วมโครงการวงเวียนช่วยชีวิตเพื่อร่วมกันวางแผน วิเคราะห์ แก้ไขจุดเสี่ยง ป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุในชุมชนอย่างยั่งยืน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ ได้ที่ www.เสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน.com เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 15 – 30 กรกฎาคม 2564 นี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center บริษัทกลางฯ โทร 1791 หรือที่ Facebook : rvpheadoffice
อุบัติเหตุทางถนนในชุมชนลดลงได้ ถ้าทุกคนในชุมชนร่วมกันลดพื้นที่ จุดเสี่ยง จุดอันตรายเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน มาร่วมกันเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนและเป็นต้นแบบถนนปลอดภัย เพื่อแสดงถึงพลังความร่วมมือของคนในชุมชนกับโครงการวงเวียนช่วยชีวิต