“นวัตกรรมสีเขียว” รังสรรค์สังคมคุณภาพแห่งอนาคต

1085

ภายใต้แนวคิด “ปลูกนวัตกรรม ปั้นนวัตกิจ ปลุกจิตสำนึกสีเขียว” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงโอกาสเข้าร่วมแข่งขันระดับนานาชาติ และทุนการศึกษากว่า 700,000 บาท

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี พร้อมด้วย นายชวลิต ทิพพาวนิช กรรมการมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมและประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารกลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นเกียรติและมอบประกาศนียบัตรให้แก่ทีมชนะเลิศ ในพิธีมอบรางวัลโครงการ “ประกวดนวัตกรรมสีเขียว ประจำปี 2562” (Youth Greenovation Awards 2019) ภายใต้แนวคิด “ปลูกนวัตกรรม ปั้นนวัตกิจ ปลุกจิตสำนึกสีเขียว” ในหัวข้อ “นวัตกรรมสีเขียวเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตแห่งอนาคต; Greenovation for the enhancement of tomorrow’s life quality” จัดโดย มูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท.

นายชวลิต ทิพพาวนิช กรรมการมูลนิธิฯ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่ม ปตท. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์ความรู้ใหม่ที่จะขับเคลื่อนการก้าวเข้าสู่สังคมต้นแบบแห่งอนาคตที่ต้องมี “นวัตกรรม” เพื่อพัฒนาสังเคราะห์หรือประยุกต์องค์ความรู้ ให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการที่หลากหลายและพัฒนาภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ก้าวไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน โดย “โครงการประกวดนวัตกรรมสีเขียว” ในครั้งนี้ จัดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม กลุ่ม ปตท. และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา ได้แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์สู่นวัตกรรม ผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์อย่างมีทักษะและเหตุผล เพื่อชิงถ้วยรางวัล ทุนการศึกษา โอกาสในการเข้าร่วมแข่งขันระดับนานาชาติ และรางวัลสนับสนุนการพัฒนาผลงานสู่วิสาหกิจชุมชน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการฯ นี้ จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมเยาวชนให้หันมาสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงเกิดจิตสำนึกของการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นเวทีที่จะขับเคลื่อนให้เยาวชนร่วมกันรังสรรค์สังคมคุณภาพแห่งอนาคต ได้ประดิษฐ์คิดค้นผลงาน องค์ความรู้ หรืออุปกรณ์เครื่องมือ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาสังคมชุมชนอย่างยั่งยืน

สำหรับปีนี้มีผลงานเข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศจำนวนกว่า 1,000 คน ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบัน อาทิ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยศิลปากร ฯลฯ  ได้พิจารณาตัดสินทีมที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกวด เป็นทีมชนะเลิศในแต่ละระดับชั้น เข้ารับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 3 ทีม คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นำเสนอ “แนวคิดนวัตกรรมสีเขียวสู่การพัฒนาองค์ความรู้” ได้แก่ ผลงาน นวัตกรรมซับแรงกระแทกเลียนแบบโครงสร้างเปลือกส้มโอ เพื่อลดอันตรายจากอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ และเด็ก โรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา จังหวัดระยอง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นำเสนอ “แนวคิดนวัตกรรมสีเขียวสู่การสังเคราะห์องค์ความรู้” ได้แก่ ผลงาน Reversible thermo-c fuse โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง และระดับอาชีวศึกษา นำเสนอ “แนวคิดนวัตกรรมสีเขียวสู่การบูรณาการองค์ความรู้” ได้แก่ ผลงาน รถเข็นพยุงผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงและผู้สูงอายุ วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

นอกจากนี้ มีการคัดเลือกทีมที่มีคุณสมบัติและศักยภาพที่เหมาะสมในการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ระดับชั้นละ 1 ผลงาน คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น: แข่งขันในเวที Canada Wide Science Fair (CWSF) ประเทศแคนาดา ได้แก่ ผลงาน กล่องรักษ์อุณหภูมิรุ่นประหยัดพลังงาน โรงเรียนสงวนหญิง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย: แข่งขันในเวที International Science and Engineering Fair (ISEF) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ผลงาน Feasibility of Using Auditory Steady State Response as Biomarker for Human Drowsiness โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี ระดับอาชีวศึกษา: แสดงผลงานในเวที The 9th Asia Pacific Conference for Young  Scientists (APCYS) เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ได้แก่ ผลงาน การรักษาความชื้นในอาหารทะเลแช่แข็งด้วยกระบวนการเคลือบผิวด้วยน้ำเย็น วิทยาลัยเทคนิคตราด

สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (SE) ได้แก่ ผลงาน การสร้างและหาประสิทธิภาพ “ชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติกระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์”  วิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งในแต่ละผลงานมีแนวคิดการนำเสนอ รวมถึงรูปแบบการนำไปต่อยอด เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน และมีโอกาสต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้จริงในชุมชน สถานประกอบการ หรือนำไปสู่สินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ทั้งในรูปแบบธุรกิจเกิดใหม่ (Startups) หรือธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises)

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. มีความมุ่งมั่นในการนำองค์ความรู้มาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง “โครงการประกวดนวัตกรรมสีเขียว” จึงถือเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลต่อวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเยาวชนเพื่อให้เติบโตเป็นบุคลากรที่มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ให้เป็นสินค้าออกสู่ท้องตลาด สร้างนวัตกรรมใหม่สู่อนาคตของประเทศชาติที่ยั่งยืนต่อไป