‘ถ่านอัดแท่งจากเปลือกมะขาม’ ไอเดียนักศึกษาสารพัดช่างเพชรบูรณ์

2305

ทีมนศ.สารพัดช่างเพชรบูรณ์ผุดแผนธุรกิจ “ผลิตและจำหน่ายถ่านอัดแท่งจากเปลือกมะขามผสมสารเคโรซีน” ไร้ควัน ไร้กลิ่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เผาไหม้ได้นานกว่า 6 ชั่วโมงต่อก้อน

ดร.บุญรักษ์  ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการ                  การอาชีวศึกษา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในกลุ่มผู้เรียนอาชีวศึกษา โดยให้นักศึกษาอาชีวศึกษาชั้นปวช.หรือปวส.จากหลากหลายสาขาวิชาชีพที่มีความสนใจเดียวกันคือต้องการจะประกอบธุรกิจเป็นผู้ประกอบการรวมตัวกันทีมละ 5 คน มีครูที่ปรึกษาประจำกลุ่ม 1 คน รวมทั้งสิ้น 6 คน ร่วมกันเขียนแผนธุรกิจ ส่งเข้าแข่งขันเพื่อคัดเลือกทีมธุรกิจดีเด่นให้เหลือ 20 ทีม (จาก 100 ทีม) เพื่อเข้ารับการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอาชีวศึกษาในการเป็นผู้ประกอบการแบบเข้มข้น ภายหลังการอบรมทีมธุรกิจทั้ง 20 ทีมจะกลับไปพัฒนาและปรับปรุงแผนธุรกิจอีกครั้งก่อนจะดำเนินการคัดเลือกและจัดแสดงผลงานในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งจะดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ได้แก่ ผู้แทนจากสถาบันการเงินและผู้แทนจากสถานประกอบการ ทั้งนี้ ทุกแผนธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 20 ทีมมีความน่าสนใจ สามารถเป็นผู้ประกอบการอิสระได้ อาทิ แผนธุรกิจ “พื้นรองเท้าเพื่อสุขภาพจากใยเปลือกทุเรียน” แผนธุรกิจ “เตาชีวมวล” แผนธุรกิจ “แคร์คุณแผ่นซับเหงื่อเท้า” แผนธุรกิจ “งานแกะสลักด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ CNC Engraver Design” แผนธุรกิจ “ยำหาวโห่” และแผนธุรกิจถ่านอัดแท่งจากเปลือกมะขามผสมสารเคโรซีน เป็นต้น

นายชยพจน์  มาดี นักศึกษาชั้นปวช.3 สาขาคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบูรณ์ เล่าถึงแรงบันดาลใจและโอกาสทางธุรกิจในการสร้างแผนธุรกิจการผลิตและจำหน่าย “ถ่านอัดแท่งจากเปลือกมะขามผสมสารเคโรซีน” ว่า ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมาว่าด้วยเรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย ด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม หัวข้อที่ 5.2.1 พัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular – Green (BCG) Economy) โดยนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมในการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมและบริการของท้องถิ่น ปรับระบบการบริหารจัดการการผลิตและระบบโลจิสติกส์ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรมและขยะแบบคลัสเตอร์ ระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัด เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระหว่างประเทศ  และหัวข้อที่ 5.2.3  สร้างกลไกสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยการใช้สถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่มาสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ ประกอบกับจังหวัดเพชรบูรณ์มีมะขามเป็นพืชเศรษฐกิจ และมีกลุ่มชาวบ้านนำมะขามไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ทำให้มีเปลือกมะขามทิ้งเป็นขยะจำนวนมาก โดยไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ นอกจากจะปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ และถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานานจะทำให้เน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น ตนและเพื่อนๆในทีมธุรกิจจึงได้ช่วยกันศึกษาและคิดค้น “ถ่านอัดแท่งจากเปลือกมะขามผสมสารเคโรซีน” ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างจากถ่านไม้ทั่วไป คือ ไร้ควัน ไร้กลิ่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ไฟแรงโดยไม่ประทุ และสามารถใช้เผาไหม้ได้ยาวนาน โดยมีส่วนผสมของเปลือกมะขามและสารเคโรซีน (ซึ่งคำเดิมที่ใช้เรียกกันคือ “พาราฟิน” นั่นเอง) โดยสารเคโรซีนตัวนี้ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เพราะเป็นการเผาไหม้ที่สะอาด และสามารถเผาไหม้ได้ยาวนานกว่าถ่านไม้ธรรมดาทั่วไปไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงต่อก้อน โดย “ถ่านอัดแท่งจากเปลือกมะขามผสมสารเคโรซีน” ได้ผ่านการรับรองคุณสมบัติค่าความร้อนสูงจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยอีกด้วย

นายชยพจน์ ยังเล่าต่อไปอีกว่า ในช่วงทดสอบตลาด ได้นำไปเสนอขายลูกค้าร้านหมูกระทะ ร้านชาบู และร้านปิ้งย่างในจังหวัดเพชรบูรณ์ให้ทดลองใช้ ปรากฏผลตอบรับดีมาก ลูกค้ามีการซื้อซ้ำและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคุ้มค่า และประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมมาก ช่วยลดต้นทุนแถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้ปัจจุบัน “ถ่านอัดแท่งจากเปลือกมะขามผสมสารเคโรซีน” มียอดขายเป็นจำนวนมาก โดยมีการบอกปากต่อปากทั่วจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งตนและเพื่อนๆ ในทีมธุรกิจกำลังเตรียมแผนเพิ่มการผลิตโดยจะเพิ่มเครื่องจักรอีก 1 ตัวให้ทันต่อยอดสั่งซื้อที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น