ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็น “คลื่นลูกใหม่” ในฐานะผู้นำเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ผู้คนหันมาปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวางสอดรับกับชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งเทรนด์นี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ผลการศึกษาของ Deloitte พบว่าผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับประโยชน์อย่างมากจากเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันในหลายแง่มุม โดยโมบายล์แอพ 4 ประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ความบันเทิง อี-คอมเมิร์ซ บริการในชีวิตประจำวัน และบริการด้านการเงิน
ล่าสุด อาลีเพย์ (Alipay) ได้ร่วมมือกับกลุ่มอาร์ติสท์หญิงที่กำลังมาแรงจากประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ในการถ่ายทอดภาพวิถีชีวิตดิจิทัลในแต่ละประเทศ ลงบนภาพดิจิทัลอาร์ตผ่านมุมมองของศิลปิน
ไทย
ผู้บริโภคชาวไทยชอบเสพความบันเทิงดิจิทัลเป็นอย่างมาก เช่น บริการสตรีมมิ่งเพลงและวิดีโอ Deloitte พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้ที่ “อิน” กับการเล่นโซเชียลมีเดียมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้วยสถิติการใช้งานโดยเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง 55 นาที
เทรนด์ดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ มนัสวี โรจนพรรณ ศิลปินและนักวาดภาพประกอบคนไทย ด้วยเช่นกัน โดยเธอกล่าวว่า “พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่งทั่วโลกเปิดจัดแสดงนิทรรศการทางออนไลน์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด ช่วยให้ผู้คนที่ไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โดยตรงสามารถเพลิดเพลินกับประสบการณ์การเข้าชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงได้จากที่บ้าน”
ฐิติพร กลิ่นทโชติ นักวาดภาพประกอบและกราฟิกดีไซเนอร์ของไทย แชร์มุมมองว่า “ในช่วงล็อคดาวน์ ประชาชนยังคงสามารถสนุกสนานและผ่อนคลายอยู่ที่บ้าน ด้วยการเชื่อมต่อออนไลน์และเยี่ยมชมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อดูวิดีโอ ฟังเพลง และสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในงานปาร์ตี้แบบเสมือนจริง”
นอกจากนี้ ความนิยมในโซเชียลมีเดียยังถือเป็นรากฐานสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยในประเทศไทย 51% ของลูกค้าออนไลน์ซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย วิศัลย์ศยา ลอยสไว นักวาดภาพประกอบอิสระของไทย บอกเล่าว่า “คนไทยใช้สมาร์ทโฟนกับทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่จ่ายบิลไปจนถึงซื้อสินค้าผ่านโมบายล์แบงค์กิ้งหรืออีวอลเล็ต เราแทบจะไม่ได้พกเงินสดติดตัวเลย เพราะเรามักจะใช้โทรศัพท์สแกนคิวอาร์โค้ดหรือรูดบัตรเป็นส่วนใหญ่”
สิงคโปร์
ไดแอน อึ้ง โรส ดีไซน์เนอร์อิสระที่ทำงานในสิงคโปร์ กล่าวว่า “เครื่องมือดิจิทัลช่วยให้กระบวนการทำงานราบรื่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับดีไซเนอร์อิสระที่มักต้องทำงานหลายอย่างในคราวเดียวกัน ตั้งแต่การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ไปจนถึงการค้นหาข้อมูลและการสร้างสรรค์งานศิลปะ โมบายล์แอพและระบบคลาวด์ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยให้สามารถทำงานส่วนใหญ่ได้ในขณะเดินทาง”
มารีนา เอ ศิลปิน Visual Art จากสิงคโปร์ เผยว่า “ผลงานของฉันถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานของเราทุกคน เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำช่วยให้สามารถเข้าถึงสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงเพิ่มโอกาสการทำงานร่วมกับลูกค้าต่างประเทศ”
ดิจิทัลไลฟ์กำลังเฟื่องฟูมากในสิงคโปร์ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งและมีแอพบริการที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกแง่มุมของการใช้ชีวิตและการทำงาน ซึ่งช่วยเพิ่มมิติที่หลากหลายให้กับชีวิตดิจิทัล ส่งให้สิงคโปร์เป็น ‘ผู้นำดิจิทัลไลฟ์’ ในภูมิภาคนี้ ตามรายงานของ Deloitte
มาเลเซีย
กาน ยี ฉิง นักวาดภาพประกอบและผู้สร้างคอนเทนต์จากมาเลเซีย กล่าวว่า “ในช่วงแพร่ระบาด ฉันมักจะดูไลฟ์สตรีมรีวิวสินค้าจากกูรูด้านความงาม และคลิปเชฟชาวมาเลเซียที่โปรโมตอาหารเมนูต่างๆพร้อมแชร์เคล็ดลับการทำอาหาร แพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยไม่มีอุปสรรคในเรื่องของระยะทาง ภาษา และเวลาอีกต่อไป ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ฉันได้ถ่ายทอดไว้ในผลงานชิ้นนี้”
ด้วยจำนวนประชากรราว 30 ล้านคน มาเลเซียเป็นหนึ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซที่น่าสนใจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการเติบโตที่รวดเร็ว และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ตามที่ระบุไว้ในรายงานของ Deloitte ลาซาด้า ประเทศมาเลเซีย พบว่ามีการทำลายสถิติที่น่าสนใจคือ อีวอลเล็ต Touch ‘n Go หนึ่งในตัวเลือกในการให้บริการออนไลน์เพย์เมนท์บนแพลตฟอร์มลาซาด้า มาเลเซีย รวมถึงเป็นผู้ให้บริการอีวอลเล็ตชั้นนำในประเทศ มีการเติบโตของปริมาณการทำธุรกรรมมากกว่า 200% และมูลค่าของการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นสูงถึง 90% ในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2562
อีวอลเล็ต Touch ‘n Go ยังพบว่าปริมาณธุรกรรมออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างมากมาจากการให้บริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ในฐานะที่บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ePENJANA ซึ่งเป็นแผนฟื้นตัวเศรษฐกิจระยะสั้นภายในประเทศ และกระตุ้นการใช้จ่ายแบบไร้การสัมผัส (contactless) รัฐบาลได้ให้เงิน 50 ริงกิต กับผู้ใช้อีวอลเล็ต ทำให้การใช้จ่ายและชำระเงินในรูปแบบออนไลน์แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ทั้งในด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และประสบการณ์การชำระเงินที่ราบรื่น ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย เช่น อี-วอลเชอร์ เป็นต้น
อินโดนีเซีย
แคทริน ฮอเนสตา นักวาดภาพประกอบอิสระจากอินโดนีเซีย กล่าวว่า “ในอินโดนีเซีย ไม่ว่าใครก็ตามสามารถเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ช่องทางดิจิทัลเป็นหนึ่งในหนทางหลักที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็ก และคนทำงานฟรีแลนซ์อยู่รอดได้ในช่วงแพร่ระบาด”
เอริน ดวี อัซมี ไอยา นักวาดภาพประกอบอิสระจากอินโดนีเซีย เล่าเสริมในมุมมองของเธอว่า “ตลาดออนไลน์ในอินโดนีเซียมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันมีชาวอินโดนีเซียจำนวนมากที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศของเรา”
อินโดนีเซียคือหนึ่งในสามประเทศที่เป็น “ผู้นำดิจิทัลไลฟ์” ตามรายงานของ Deloitte โดยธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ของอินโดนีเซียเติบโตอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าจำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในช่วงเทศกาล 11.11 ปีนี้ DANA หนึ่งในผู้นำทางด้านแพลตฟอร์มการชำระเงินทางมือถือของประเทศอินโดนิเซีย ได้ช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระเงินโดยร่วมมือกับผู้ค้าออนไลน์และออฟไลน์มากกว่า 60 ราย รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อีกสามราย ได้แก่ ลาซาด้า, บูกาลาปัก (Bukalapak) และ Blibli
ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน DANA มากกว่า 45 ล้านคนตั้งแต่บริษัทได้ก่อตั้งมา ยิ่งไปกว่านั้น DANA ยังให้บริการในกลุ่มธุรกิจดั้งเดิม (brick-and-mortar merchants) มากกว่า 200,000 ราย เพื่อให้ร้านค้าเหล่านั้นสามารถให้บริการการชำระเงินแบบไร้การสัมผัส มีความสะดวกสบาย และสร้างความปลอดภัยให้กับลูกค้า