ซินเจนทา โชว์ผลงานชีวภาพ พร้อมสนับสนุนงานประชุม International Conference on Biodiversity 2019

1369

งานประชุมวิชาการนานาชาติและนิทรรศการทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ  (International Conference on Biodiversity) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562  ณ เซนทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซนเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอผลงานและเทคโนโลยีด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจาก บริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย ผู้นำนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรและอาหาร

นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ หมอพืชและผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนธุรกิจ ประเทศไทย ซินเจนทา เปิดเผยว่า “วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิศาสตร์เขตร้อน กำลังเป็นที่สนใจไปทั่วโลก เนื่องด้วยเป็นเขตที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ปัจจุบันเกิดการสูญเสียจากปัจจัยต่างๆมากขึ้น เช่น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชน การใช้ปัจจัยทางการเกษตร โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เพราะระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร สูญเสียสมดุล”

การเข้าร่วมจัดงานครั้งนี้ ซินเจนทา ตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะ ผึ้งและแมลงผสมเกสร ที่มีบทบาทหลักในระบบการผลิตอาหารและการเกษตร ร้อยละ 90 ของพืชอาหารทั่วโลก อาศัยการผสมเกสรของแมลงขนาดต่าง ๆ หากการผสมเกสรของพืชไม่เพียงพอ จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง คิดเป็นมูลค่า 17.3 ล้านล้านบาท หรือ 577 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ซินเจนทา จึงได้วิจัยและพัฒนาโครงการรักษาสมดุล สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ มากถึง 301 โครงการใน 39 ประเทศทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากกว่า 31,250 ไร่ และอบรมเกษตรกรไปแล้วกว่า 2,500 รายในปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย ซินเจนทา ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ และศูนย์ผึ้งจันทบุรี เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนผลไม้จังหวัดจันทบุรี จัดทำ โครงการรักษ์ผึ้ง (Bee love project) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและสร้างความรู้ระหว่างเกษตรกรชาวสวนและผู้เลี้ยงผึ้ง ขยายผลไปยังกระบวนการผลิตทางการเกษตรด้วยการผสมเกสรของผึ้ง การใช้สารเคมีเกษตรได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา ลดผลกระทบต่อสุขภาพผึ้ง ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะเดียวกัน เกษตรกรชาวสวนและผู้เลี้ยงผึ้งต่างก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน มีผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น และน้ำผึ้งมีคุณภาพดีได้มาตรฐาน และในเร็วๆ นี้ ซินเจนทาวางแผนจะก่อตั้งศูนย์เรียนรู้รักษ์ผึ้ง และร่วมกับชุมชนสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของผึ้งและแมลงผสมเกสรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและนครสวรรค์

“การแก้ไขปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซินเจนทา  พร้อมนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านเกษตรและอาหาร มาใช้พัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกร ควบคู่ไปกับการปกป้องรักษาโลกให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นด้วย” หมอพืช วัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ กล่าวสรุป