ชาวาวี…พลิกแนวคิด ชีวิตเปลี่ยน By ECONMAN

2253
ภาพ : อินเตอร์เน็ต

ไร่ชาวาวี ตั้งอยู่บนดอยวาวี พื้นที่ปลูกชาที่ใหญ่ที่สุดในไทย และยังเป็นไร่ชาอู่หลงแห่งแรกของไทยอีกด้วย

ชาที่ปลูกบนดอยมีหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์เมือง, ชาซีลอน, ชาจีน, ชามังกรดำ หรือ ชิงชิงอู่หลง

ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกิน 1,000 ฟุต

ชาของที่นี่จึงโดดเด่นและเลื่องลือไปทั่วโลก

          แต่ในอดีตที่ผ่านมา ชาวบ้าน ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ปลูกชากันโดยไม่ได้นำนวัตกรรมหรืองานวิจัยพัฒนาต่อยอด

เน้นการใช้สารเคมีเป็นตัวเร่งผลผลิต เมื่อผลผลิตออกมาก็เก็บใบชาไปขายให้พ่อค้าคนกลางในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท

เป็นอย่างนี้มาเนิ่นนาน!

ในเวลาต่อมา ชาจากจีนและเวียดนามถูกนำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยได้โดยไม่เสียภาษี ตามข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าคือเอฟทีเอไทย-จีน และ เอฟทีเออาเซียน-จีน

เมื่อชาจากต่างประเทศทะลักเข้ามาชาวาวีจึงไม่สามารถแข่งขันได้

วิสาหกิจชุมชน ต.วาวี จึงได้รวมตัวกันทำเรื่องขอความช่วยเหลือจากกองทุนเอฟทีเอของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าหรือเอฟทีเอนั่นเอง

เมื่อผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เข้าไปศึกษาก็พบว่าปัญหาของการผลิตชาวารีคือ ไม่มีการใช้นวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าสินค้า

จึงได้จัดงบประมาณจัดจ้างนักวิชาการเข้าไปศึกษาเก็บข้อมูล และนำวิธีบริหารจัดการสมัยใหม่เข้าไปประยุกต์ใช้

เริ่มตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบบการเพาะปลูก

จากเดิมที่เน้นการใช้สารเคมีก็ส่งเสริมให้ผลิตแบบการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นเทรนด์ของผู้บริโภค จนกระทั่งชาวาวีได้รับการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ (Organic Thailand) และ การรับรองการผลิตพืชอินทรีย์สหภาพยุโรป (อียู)

การช่วยเหลือของกองทุนเอฟทีเอไม่ได้เพียงทำให้กลุ่มผู้ประกอบการชาวาวีกลับมายืนหยัดต่อสู้กับชานำเข้าได้เท่านั้น

แต่ยังพัฒนากลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตชาวาวีให้สามารรถพัฒนาต่อยอดผลักดันราคาให้สูงขึ้น

จากเคยขายได้ 30-40  บาท/กก.

เป็น 3,000 บาท/กก.

เพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า

สามารถสร้างโรงอบ โรงบ่ม และจำหน่ายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

พลิกสถานการณ์จากราคาใบชาอบแห้งที่อยู่ในระดับต่ำมาก จนไม่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ เนื่องจากราคาชาใบอบแห้งที่เกษตรกรนำมาขายให้พ่อค้าคนกลางก่อนหน้านี้เพียงกิโลกรัมละ 30-40 บาทเท่านั้น

แต่หลังเปลี่ยนแปลงวิธีการเพาะปลูกจากการใช้สารเคมีมาสู่การทำเกษตรแบบอินทรีย์ ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่มีรายได้จากการปลูกและจำหน่ายใบชาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ตั้งแต่ 10 เท่าไปจนถึง 100 เท่า

            นอกจากนี้ ยังพบว่าใต้พื้นดินดอยวาวี เป็นแหล่งน้ำแร่ขนาดใหญ่คุณภาพสูงที่รากชาชอนไชลงไปถึง

กลายเป็นชาชนิดเดียวในโลกที่ได้รับการบำรุงจากน้ำแร่

เมื่อพ่อค้าชาวจีนได้มาเห็นสถานที่ปลูกและกรรมวิธีการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ มีน้ำแร่เป็นอาหารเสริมก็ยอมรับว่ายอดชาวารีมีคุณภาพเยี่ยมที่สุดในโลก

โดยระดับราคาใบชาอบแห้งแบ่งเป็น 3 เกรดคือ

เกรด A เป็นส่วนยอดชา กิโลกรัมละ 3,000 บาท

เกรด B ยอดชา+1ใบ ราคากิโลกรัมละ 2,000-2,500 บาท

เกรด C ยอดชา + 2ใบ ราคากิโลกรัมละ 500-700 บาท

ปัจจุบันชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายชาและการส่งออกชาปีละนับร้อยล้านบาท!!