คปภ. ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เร่งเพิ่มภูมิคุ้มกันความเสี่ยงภัยด้วยระบบประกันภัย

867

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา “ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้ SME” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้แทนจากสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาพันธ์ SME ไทย ส่วนภูมิภาค และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จำนวนกว่า 150 คน เข้าร่วมสัมมนา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ณ โรงแรม สวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ

            ในโอกาสนี้เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้ SME” ตอนหนึ่งว่า ผู้ประกอบการ SME จัดเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบางต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้มีสายป่านธุรกิจที่ยาว จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการเพิ่มความคุ้มกันจากความเสี่ยงภัย และเนื่องจากสัญญาประกันภัยมีความคุ้มครองที่หลากหลาย โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ จึงถือเป็นกลไกที่สำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับกลุ่มธุรกิจ SME ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อจะได้เลือกใช้เครื่องมือนี้ในการจัดการกับความเสี่ยงภัยได้อย่างเหมาะสม

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ SME ได้แก่ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยความเสี่ยงภัยต่อทรัพย์สิน ประกันภัยการสูญเสียรายได้และค่าใช้จ่ายคงที่ระหว่างธุรกิจหยุดชะงัก ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ประกันภัยอุบัติเหตุเดินทางสำหรับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ การประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสาร ซึ่งเป็นประกันภัยภาคบังคับ ฯลฯ

            สำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนธุรกิจ SME มาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจะจัดสัมมนาและลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องประกันภัยติดต่อกันเป็นปีที่สี่แล้ว ยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Package ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่รวมความคุ้มครองไว้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการ โดยมีความคุ้มครองหลักสำหรับการประกันอัคคีภัยอาคาร ทรัพย์สินภายในอาคาร สต๊อกสินค้า เครื่องจักร การประกันภัยเงินทดแทนการสูญเสียรายได้ การประกันภัยโจรกรรม การประกันภัยสำหรับเงินภายในสถานที่เอาประกันภัย การประกันภัยสำหรับกระจก การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกและการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการ SME ลดภาระค่าใช้จ่ายในหลายมิติ เช่น ในกรณีที่สถานประกอบการเกิดเหตุเพลิงไหม้ น้ำท่วม นอกจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตัวอาคารและปรับปรุงภายในอาคารแล้วในระหว่างที่กำลังซ่อมแซมอยู่นั้น ผู้ประกอบการ SME ไม่สามารถประกอบกิจการได้เป็นระยะเวลาเท่าไรและขาดรายได้จากการที่ไม่สามารถประกอบกิจการเป็นจำนวนเงินเท่าใด ตัวกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้ประกอบการ SME ทำไว้จะเข้ามาบริหารความเสี่ยงในจุดนี้ทันที แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการทำประกันภัยคือ ผู้ประกอบการ SME จะต้องมีความเข้าใจว่าธุรกิจของตนเองมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถเลือกการประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยที่ธุรกิจของตนจะต้องเผชิญ เนื่องจากการประกันภัยมีความคุ้มครองที่หลากหลาย เช่น การประกันอัคคีภัย เป็นการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินเมื่อเกิดเพลิงไหม้ การประกันภัยความรับผิด เป็นการให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่น การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เป็นการให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากกรณีที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้

            “ระบบประกันภัยเป็นกลไกที่ทรงประสิทธิภาพในการช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการ SME โดยการทำประกันภัยในบางกรณีก็เป็นภาคบังคับเนื่องจากกฎหมายบังคับให้ทำ หากไม่ทำจะมีโทษปรับเป็นจำนวนเงินที่สูง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SME จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของการประกันภัยที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง เพื่อจะได้ปฏิบัติตนได้ถูกต้องโดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย และสามารถใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยในการช่วยบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแก่ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย