‘กล้วย-มะพร้าว’ ปลูกอย่างไรให้รวย ขายอย่างไรให้ปัง

2226

กล้วยและมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต เพราะสามารถทานได้แบบสดๆและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องได้มากมาย

ปัจจุบันกล้วยที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ กล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า มีผลผลิตรวมกันมากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี โดยพบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าส่งออกกล้วยสดราว  467 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 41 เป็นการส่งออกไปจีนสูงสุดที่มูลค่า 340 ล้านบาท รองลงมาคือญี่ปุ่น 65 ล้านบาท และฮ่องกง 44 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยในลักษณะของสินค้าโอทอปประจำท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก หากเรามีการนำผลไม้ดังกล่าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้มากเท่าไหร่ ก็จะเพิ่มโอกาสการขายกล้วยให้กับเกษตรกรมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับผู้สนใจทำธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว-กล้วย ทั้งรายเก่าและรายใหม่จะขายผลผลิตแปรรูปดังกล่าวอย่างไรให้ปัง

คำตอบคือต้อง ‘แชร์’ และ ‘สร้างเครือข่าย’

ซึ่งการพัฒนาห่วงโซ่ดังกล่าวไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว หรือ กลุ่มเดียว ต้องทำเป็นเครือข่าย หรือ คลัสเตอร์ โดยนำผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกล้วยและมะพร้าวในแต่ละพื้นที่มารวมตัวกันเป็นกลุ่ม แล้วรัฐสนับสนุนองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ จากนั้นนำแต่ละกลุ่มมาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกัน รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการตลาดระหว่างกัน

การรวมตัวของเครือข่ายกระจายตัวมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็จะสะท้อนกลับไปยังกลุ่มต้นน้ำ หรือ เกษตรกรมากเท่านั้น

ในขณะที่เกษตรกรหากเข้าร่วมเครือข่ายก็จะได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆนำไปพัฒนาต่อยอดให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงได้รับโอกาสทางการตลาดมากขึ้น

การจับมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. กับ สถาบันอาหารจึงเป็นความร่วมมือที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นก็คือการจับมือเพื่อสร้างเครือข่าย SME กลุ่มมะพร้าวและกล้วย

มาดูกันว่าปี 2561 สสว.กับ สถาบันอาหารจะพัฒนาเครือข่ายกล้วยและมะพร้าวอย่างไร?

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ตั้งเป้าจะรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วยรวม 17 เครือข่าย แบ่งเป็นกลุ่มมะพร้าว 10 เครือข่าย ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายต่อเนื่องต่อยอดขยายผลตามแผนพัฒนาจากปี 2560 จำนวน 8เครือข่าย และในปี 2561 นี้เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่อีก 2 เครือข่าย ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมกล้วย เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในปี 2561 นี้ จำนวน 7 เครือข่าย มีเป้าหมายเกิดการขยายการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 สามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจรวมกันได้ 70 ล้านบาท และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

“สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ภายใต้วงเงินงบประมาณ33 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายมะพร้าวและเครือข่ายกล้วย เน้นกระตุ้นและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยมุ่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร โครงการฯ จะเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกกล้วย เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตามมาตรฐานการส่งออก การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเก็บรักษา การยืดอายุ การดูแลบรรจุภัณฑ์ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกกล้วยโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม(GAP) มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์กล้วยให้ได้คุณภาพมากขึ้น ” นายสุวรรณชัย กล่าว

ด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์  ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วย ปี 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,300 ราย เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม  17 เครือข่ายตามเป้าหมาย แบ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมะพร้าว 1,350 ราย และอุตสาหกรรมกล้วย 950 ราย  โดยสถาบันอาหารจะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องไปจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ จัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาคลัสเตอร์ การตลาดและการสร้างแบรนด์เชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ได้แก่ การนำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างประเทศ หรือจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ  เป็นต้น

ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ทาง www.nfi.or.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 422 8688 ต่อ 9206-7  E-mail :khosee@nfi.or.th , patsakorn.ball@gmail.com