นายนพพล เบี้ยวไข่มุข ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต (กปช.) กล่าวว่า กองทุนประกันชีวิตมีนโยบายเร่งรัดประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์จากการทำประกันชีวิต ในบทบาทหน้าที่ของกองทุนฯ โดยเฉพาะเงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความ (ณ 30 มิถุนายน 2565 มีจำนวนเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความสะสมอยู่ในกองทุนประมาณ 1,750 ล้านบาท จากจำนวนผู้เอาประกันภัยที่มีสิทธิ 1.5 ล้านราย) โดยมีคนมารับคืนเพียง 1 หมื่นกว่าคน คิดเป็นแค่ 1% เท่านั้น ซึ่งต้องตามหาเจ้าของเงินผู้ทำประกันที่ยังไม่มารับคืนอีก 99% เพื่อมารับเงินคืน
“อายุเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความคือ 10+10 หมายความว่าเงินที่ผู้ซื้อกรมธรรม์เคยนำส่งไประยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมาได้หยุดส่งด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ และบริษัทประกันชีวิตไม่สามารถติดต่อได้ เงินจำนวนนี้จะเก็บไว้กับบริษัทประกันชีวิต 10 ปี หลังพ้นกำหนด 10 ปีเรียกว่าเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ โดยจะส่งมาเก็บไว้ที่กองทุนฯอีก 10 ปีเพื่อตามหาเจ้าของกรมธรรม์มารับเงินคืน” ผู้จัดการกองทุนฯกล่าว
นายนพพล กล่าวต่อไปว่า เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความก็คือเงินที่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือทายาทของผู้เอาประกันภัย มีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ แต่ไม่ได้เรียกร้องหรือขอรับคืนจากบริษัทฯ จนล่วงพ้นไป 10 ปี กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ หรือทายาทแล้วแต่กรณี สามารถขอรับเงินคืนจากกองทุนประกันชีวิตได้ภายในระยะเวลาอีก 10 ปีนับแต่วันที่กองทุนฯ ได้รับเงินนำส่งจากบริษัทฯ
ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิของตนผ่านเว็บไซต์กองทุนประกันชีวิต www.lifeif.or.th หากพบว่าตนมีสิทธิในเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ก็สามารถยื่นเอกสารคำขอรับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ พร้อมแนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งมาทางไปรษณีย์ หรือยื่นคำขอรับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความผ่านทางเว็บไซต์กองทุนประกันชีวิต เมื่อได้รับคำขอแล้วกองทุนฯ จะดำเนินการตรวจสอบและอนุมัติจ่ายเงินคืนให้ ด้วยการโอนเงินผ่านช่องทางธนาคารต่อไป ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็ว อันเป็นเจตนารมณ์ของกองทุนฯ