TOMMI..ไม่ใช่เวทย์มนต์ แต่คือเครื่องมือเจียระไน SME

1369

บรรยากาศการแถลงข่าวร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการ “สร้างศักยภาพในการแข่งขันของ SME ไทยด้วยนวัตกรรมและการตลาด (TOMMI : TRF-OSMEP Marketing Meets Innovation)” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อาจไม่ดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับข่าวที่กำลังฟีเวอร์ตามโซเชียลมีเดีย

คำว่า TRF-OSMEP Marketing Meets Innovation หรือเรียกสั้นๆว่า TOMMI (ทอมมี่) ก็เป็นศัพท์ใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก สื่อมวลชนหลายคนแอบตั้งคำถามในใจว่า..จะมีประเด็นอะไรน่าสนใจให้นำเสนอหรือเปล่า?

จนเมื่อ ‘สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล’ ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวถึงคอนเส็ปต์ของโครงการนี้ ความน่าสนใจจึงเริ่มกระเพื่อม เพราะโครงการนี้เป็นการนำงบประมาณและความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงานมาทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อคัดเลือกธุรกิจ SME มาเจียระไนต่อยอดให้เป็นสินค้าที่มี ‘นวัตกรรม’ และ ประสบความสำเร็จด้าน ‘การตลาด’

ความหมายก็คือ ทั้ง สสว. และ สกว. ต่างมีงบประมาณการสนับสนุนส่งเสริมสมาชิกในกลุ่มของตนอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างทำ เช่น สสว.ให้การส่งเสริมสนับสนุนด้านการผลิต การตลาด การเข้าถึงแหล่งทุน ขณะที่ สกว.ให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา-การสร้างนวัตกรรม

ด้วยเหตุนี้ แม้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของ สสว.จะมีศักยภาพด้านการผลิตสูง แต่สินค้าอาจไม่มีนวัตกรรม สู้กับคู่แข่งไม่ได้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของ สกว. แม้จะผลิตสินค้าที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา มีนวัตกรรม แต่ขาดศักยภาพด้านการผลิต การตลาด และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ทั้งสองหน่วยงานจึงเกิดไอเดียว่า ถ้ามีการคัดเลือกสมาชิกของตนเอง นำมาแลกเปลี่ยนเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกันน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก กลายเป็นโครงการ “สร้างศักยภาพในการแข่งขันของ SME ไทยด้วยนวัตกรรมและการตลาด”

หรือ TOMMI

“จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจาก สกว. ประสานงานมายัง สสว. โดยเห็นว่า สสว. เป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยดูแลและสนับสนุน SME ไทยในหลากหลายมิติ สามารถต่อยอดบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการวิจัยจาก สกว.แล้ว ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จนไปสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้จริง ขณะที่ สสว. ก็จะส่ง SME ของโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การส่งต่อผู้ประกอบการ SME ระหว่างกัน จึงเป็นการต่อเติมเรื่องที่ขาดและเป็นการช่วยเหลือให้ SME ไทยไปถึงฝั่ง” สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เล่าที่มาของโครงการ

ความร่วมมือระหว่าง สสว. และ สกว. จึงถือเป็นครั้งแรกที่จะดึงจุดเด่น ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของแต่ละฝ่ายมาช่วยต่อยอด SME ของทั้งสองฝ่าย โดย สสว. จะคัดเลือก SME ในโครงการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพส่งต่อให้ สกว. เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับสินค้าให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน สกว. ก็จะคัดเลือก SME ที่มีผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการวิจัยและเทคโนโลยีมาแล้วส่งต่อให้ สสว. ช่วยสร้างองค์ความรู้ ให้คำปรึกษาในการบริหารจัดการธุรกิจ สนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงสร้างช่องทางการตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการให้หลากหลายขึ้น

ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย “นวัตกรรม” จำเป็นต้องพัฒนายกระดับผู้ประกอบการ SME ซึ่งถือเป็นหัวหอกสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ สามารถเข้าถึงนวัตกรรมและนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขันได้ โดยไม่ต้องแข่งขันด้านราคาและแรงงานเพียงอย่างเดียว โดยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและเกิดการลงทุนวิจัยตามความเหมาะสม เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของ SME ให้เพิ่มขึ้น และมีกลไกที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตและสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อให้ SME เป็นกำลังสำคัญในการสร้างแรงขับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

“ความร่วมมือในครั้งนี้ สกว. จะสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพให้ได้รับการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิต ผ่านกระบวนการสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนวัตกรรมที่ได้จะไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนไปสู่การจำหน่ายได้จริงในเชิงพาณิชย์  และ สกว.จะร่วมกับ สสว. ในการพัฒนาผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์แล้ว ให้ได้รับการเสริมทักษะที่จำเป็นทางธุรกิจ อาทิ การออกงานแสดงสินค้าระดับโลกทั้งในและต่างประเทศ” ผอ.สกว. กล่าว

โครงการนี้จะช่วยผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก ประหยัดค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนา การทำตลาด การออกงานแสดงสินค้า เพราะได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองหน่วยงาน

คาดว่าการจับมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ไทยอย่างเป็นระบบและครบวงจรครั้งนี้ จะยกระดับ SME ให้เป็นมืออาชีพไม่น้อยกว่า 300 ราย สร้างมูลค่าให้ระบบเศรษฐกิจประมาณ 600 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี

 

ที่มา : creativeecon.asia