จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ ได้แรงบันดาลใจจากความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนแห่งหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตของเกษตรกรด้วยแนวคิดแบบใหม่ คือ วิสาหกิจชุมชน ต.วาวี ตั้งอยู่บนดอยวาวี พื้นที่ปลูกชาใหญ่ที่สุดในไทย และยังเป็นไร่ชาอู่หลงแห่งแรกของไทยอีกด้วย ชาที่ปลูกบนดอยมีหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์เมือง, ชาซีลอน, ชาจีน, ชามังกรดำ หรือ ชิงชิงอู่หลง ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกิน 1,000 ฟุต ชาของที่นี่จึงโดดเด่นและเลื่องลือไปทั่วโลก
แต่ในอดีตที่ผ่านมา ชาวบ้าน ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ปลูกชากันโดยไม่ได้นำนวัตกรรมหรืองานวิจัยพัฒนาต่อยอด เมื่อผลผลิตออกมาก็เก็บใบชาไปขายให้พ่อค้าคนกลางในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท เป็นอย่างนี้มาเนิ่นนาน
ในเวลาต่อมา ชาจากจีนและเวียดนามถูกนำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยได้โดยไม่เสียภาษี ตามข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าคือเอฟทีเอไทย-จีน และ เอฟทีเออาเซียน-จีน เมื่อชาจากต่างประเทศทะลักเข้ามาชาวาวีจึงไม่สามารถแข่งขันได้
วิสาหกิจชุมชน ต.วาวี จึงได้รวมตัวกันทำเรื่องขอความช่วยเหลือจากกองทุนเอฟทีเอ ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าหรือเอฟทีเอ เมื่อผู้บริหารกองทุนฯ เข้าไปศึกษาก็พบว่าปัญหาของการผลิตชาวารีคือ ไม่มีการใช้นวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าสินค้า จึงได้จัดงบประมาณจัดจ้างนักวิชาการเข้าไปศึกษาเก็บข้อมูล และนำวิธีบริหารจัดการสมัยใหม่เข้าไปประยุกต์ใช้ เริ่มตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบบการเพาะปลูก รับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่
การช่วยเหลือของกองทุนเอฟทีเอไม่ได้เพียงทำให้กลุ่มผู้ประกอบการชาวาวีกลับมายืนหยัดต่อสู้กับชานำเข้าได้เท่านั้น แต่ยังพัฒนากลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตชาวาวีให้สามารรถพัฒนาต่อยอดผลักดันราคาให้สูงขึ้น จากเคยขายได้ 30-40 บาท/กก. เป็น 3,000 บาท/กก. หรือ เพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า สามารถสร้างโรงอบ โรงบ่ม และจำหน่ายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่มีรายได้จากการปลูกและจำหน่ายใบชาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ 10 เท่าไปจนถึง 100 เท่า
ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนโฉมหน้าอาหาร หลายเรื่องถือเป็นโอกาสที่น่าจะเข้าไปลงทุน อาทิ Food Structure Design ปกติอาหารที่ดีต่อสุขภาพมักไม่ค่อยถูกปาก แต่เทคโนโลยียุคใหม่ช่วยออกแบบโครงสร้างอาหารเพื่อให้อาหารที่ดีมีความน่ารับประทานมากขึ้น ด้วยการคงกลิ่น รสชาติ และสารอาหารไว้อย่างครบถ้วน เช่นทำให้ไส้กรอกมีปริมาณไขมันต่ำกว่า 5% จากที่ปกติไส้กรอกทั่วไปจะมีไขมันอยู่ราว 20-30% เป็นต้น
Personalized Food ในอนาคตอันใกล้ อาหารอาจจะกลายมาเป็นยาจริงๆ รวมถึงอาหารเฉพาะบุคคล หรือ personalized food โดยอาศัยข้อมูลทางชีววิทยา เช่น จีโนมิกส์ (genomics) โปรตีโอมิกส์ (proteomics) ที่บอกความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับพันธุกรรมของแต่ละคนได้
CRISPR / Cas 9 (คริส-เป้อ-แคส-ไนน์) เชื่อกันว่าเทคโนโลยีนี้จะมาแทนการตัดต่อพันธุกรรมในพืชและสัตว์ หรือ GMO คล้ายๆกับที่ DVD มาแทนที่ VCD ในด้านเกษตรกรรม ด้วยการร่นระยะเวลาสร้างพืชหรือสัตว์ชนิดใหม่ๆ ทำให้มีพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่หลากหลายมากขึ้น เพิ่ม food security ให้กับโลก
food gift หรือการเปลี่ยน ‘อาหาร’ เป็น ‘ของขวัญ’ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าจะสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหารไทย เนื่องจากปัจจุบันเรามีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเมืองไทยมากกว่า 3 ล้านล้านบาทต่อปี หากเปิดแนวรุกใหม่ หันมาให้สินค้าประเภทอาหารเป็นของขวัญ (food gift) เช่น ญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยการดีไซน์อาหารให้เป็นมากกว่าของฝาก ด้วยแพกเกจจิ้งหรูหรา ดูดี มีระดับ จนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่างกว้านซื้อขนกลับบ้านราวกับแจกฟรี จะดีแค่ไหน..ถ้าปลาสลิดอบแห้งถูกแพ็คลงในกล่องที่สวยหรู จะดีแค่ไหน..ถ้ากล้วยไข่ หรือ สับปะรด จะถูกดีไซน์ให้เป็นของขวัญ ไม่ใช่แค่ของฝาก จะดีแค่ไหน..ถ้าเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วมี food gift ให้เลือกมากมาย จะดีแค่ไหน..ถ้าจังหวัดต่างๆมี ‘food gift’ ให้นักท่องเที่ยวเลือกช้อป เพิ่มมูลค่าตลาด ‘ของขวัญ’ และ ‘อาหาร’ ได้ในเวลาเดียวกัน
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นสำหรับหนังสือเล่มนี้คือ การจัดอาร์ตเวิร์คที่อ่านง่าย ได้อรรถรส จนไม่รู้สึกว่ากำลังอ่านหนังสือแนวบริหาร
นี่เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่ยกมาบอกเล่า ยังมีนวัตกรรมอีกมากมายในหนังสือเล่มนี้ที่เข้าไปอ่านแล้วต้องร้อง..ว้าววว
คุ้มค่า คุ้มราคา นำไปต่อยอดทำธุรกิจอาหารยุคใหม่ได้จริง