นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ “การส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน” ระหว่างการเคหะแห่งชาติกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมี เรืออากาศโท ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นางสาววารุณี พุทธชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นายศิริพงษ์ สุขเสริมศาล ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนายวรุตร์ จิวะมาวิน ผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 5 สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนเรา จนเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤต แม้ประชาคมโลกได้มีข้อตกลงในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและลดผลกระทบที่จะตามมาโดยให้แต่ละประเทศจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและแผนงานระยะสั้น พร้อมกำหนดเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติมีเกณฑ์ Eco – Village ที่ใช้ในการออกแบบและจัดทำโครงการเพื่อการมีที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน โดยนำนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อทดแทนพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มาออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งกำลังดำเนินโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programmer) โดยจะดำเนินงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยซึ่งจะช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามทิศทางการพัฒนาประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรม
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การมีที่อยู่อาศัย หรือ“บ้าน” ไม่ว่าในรูปแบบใด ก็ช่วยให้คนเรารู้สึกมีความมั่นคง ปลอดภัย และอบอุ่น การจะทำให้ที่อยู่อาศัยสามารถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้นั้นจะต้องคิดตั้งแต่การออกแบบตัวบ้าน การเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง การใช้พลังงานทางเลือกและอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน รวมถึงการมีพื้นที่สีเขียว ที่ช่วยให้เกิดความร่มเย็นและร่มรื่น และยังต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย ทั้งการกิน การใช้ การจัดการขยะและของเสียที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น บ้านในยุคสมัยนี้จะต้องสามารถรับมือกับภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งได้ด้วย
การส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคที่อยู่อาศัย (mitigation) และด้านการปรับตัวให้อยู่ได้อย่างปกติในภาวะโลกร้อน (adaptation) ซึ่งนับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ต้องคิดเป็นองค์รวม ใช้บทเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมา อาศัยความรู้ทางวิชาการ และการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน