ในโอกาสครบรอบ 48 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน สื่อมวลชน 3 สำนัก ประกอบด้วย The Leader Asia บางกอกทูเดย์ และ Creativeecon ได้จัดกิจกรรมสัมมนาเรื่อง “ 48ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน ร่วมทางร่วมพัฒนา” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวและกระชับความสัมพันธ์สองประเทศให้มั่นคงสืบต่อไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 16 อาคาร CP ALL ACADEMY สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้เกียรติบรรยายพิเศษหัวข้อ “โลกปัจจุบันกับความสัมพันธ์ไทย-จีน”
รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นวันครบรอบ 48 ปีที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางไปจีนเพื่อร่วมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันมีอะไรเป็นตัวกำหนด มีแนวโน้มอยู่ 6 เรื่อง (6 TIONS) ที่เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของชาติมหาอำนาจโลก
1.Digitalization ปัจจุบันการต่อสู้ของ5G ที่กำลังมุ่งสู่ 6G เป็นอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือการต่อสู้แข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเข้มข้นตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เซมิคอนดักเตอร์, ชิป, ตลาด
2. Financialization พัฒนาการของภาคการเงินที่ขยายตัวใหญ่โตมาก เฉพาะตลาดหุ้น มูลค่ามาร์เก็ตแคปปัจจุบัน 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับGDPทั่วโลก 90 ล้านล้านเหรียญฯ ยังไม่รวมตลาดพันธบัตรที่ใหญ่โตกว่าตลาดหุ้น ช่วงโควิดโลกทั้งใบแทบจะหยุดหมุนแต่ภาคการเงินไม่เคยหยุดและต่อไปนี้จะขับเคลื่อนต่อไปภายใต้การต่อสู้กันระหว่างสหรัฐกับจีน ตอนนี้เริ่มได้ยิน Dollarization กับYuanization
3.Medicalization พัฒนาการของวงการแพทย์มีมาก ช่วงโควิดมีการแข่งขันด้านการทูตวัคซีนอย่างเข้มข้นแหลมคม โรคทุกวันนี้เป็นโรคในชาติเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วเริ่มแก่ตัวลงมีผู้อาวุโสมากขึ้น จะมีการพัฒนาค้นคว้าเรื่อง Welness Anti-Aging เวชศาสตร์ชะลอวัย
4.Climatization การต่อสู้เรื่องโลกร้อน ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกมีความเข้มข้นแหลมคม แทนที่จะร่วมมือกันกลับแข่งขันกันและกีดกันซึ่งกันและกัน เช่น แผงโซลาแซลส์ กังหันลม จีนส่งไปขายในสหรัฐอเมริกาไม่ได้ถูกเก็บภาษีสูงมาก
5.Virtualization โลกเสมือนจริง ก่อนหน้านี้คำว่า Metaverse โด่งดังมาก ตอนนี้คำว่า ZGPT Generative AI จะเร่งให้โลกเสมือนจริงขยายตัวควบคู่ไปกับโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งจะมีส่วนกำหนดทิศทางของโลกใบนี้ ตอนนี้จีนตื่นตัวเรื่องนี้อย่างมาก
6.Geopolitics Confrontation การประทะกันหรือการเผชิญหน้ากันทางปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในขณะนี้
การต่อสู้แข่งขันสองสองมหาอำนาจใหญ่นำไปสู่ Decoupling การแยกตัวหรือการหย่าขาดออกจากกัน หรือ De-Risk ลดความเสี่ยงต่อการพึ่งพาจีน หรือ Decoupling Divergence หรือ Polarization เป็นคำที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเพราะเกิดสภาวะสองค่าย สองฝั่งสองฝ่าย กลายเป็นโลกหลายขั้วอย่างที่เห็นอยู่
ทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศจึงมี 4 ทิศทางหลัก Global North คือการร่วมมือของประเทศฝ่ายเหนือ เพราะเหตุผลของ Economic Security หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะที่ Global South ประเทศฝ่ายใต้ร่วมมือกันเพิ่มมากขึ้น การเสริมสร้างซัพพลายเชนที่แยกตัวออกจากกันเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับแยกตัวออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เพราะมีคำว่า North South ประเทศที่พัฒนาแล้วบุกเข้าไปในแอฟริกา เพื่อช่วงชิงพันธมิตร และมีSouth North นายกรัฐมนตรีจีนไปเยือนยุโรปเพื่อช่วงชิงฝ่ายเหนือ
โลกที่แปรเปลี่ยนนี้จะนำไปสู่ทุนนิยมที่มีภาครัฐเป็นตัวกำหนดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ทุนนิยมที่เคยมีภาคเอกชนเป็นตัวนำพาจะลดบทบาทลง สภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงจึงเกิดสภาวะรีๆรอๆเพราะมีความเสี่ยง อันเป็นการสร้างปัญหาแก่เศรษฐกิจทั้งโลก ต่อไปนี้ห่วงโซ่อุปทานร่วมมือกันจะต้องมีการบริหารจุดคุ้มทุนที่สั้นลง ไม่ใช่พึ่งการประหยัดแต่ต้องอาศัยความรวดเร็วความว่องไว (Economy of Speed) ในการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพเข้ามาเป็นตัวเกี่ยวพัน
จีนมีกลยุทธ์ในการพัฒนาอย่างไรและจะส่งผลถึงอาเซียนและไทยเราอย่างไร จีนมี Internalization หรือ Localization คือการใช้ตัวแปรของพื้นที่ของเศรษฐกิจจีนเองเป็นตัวกำหนดการพัฒนา มี 5 Smart ที่จีนต้องทำ
1.Smart Production ตอนนี้จีนนำเรื่องอินเตอร์เน็ตเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสูง นวัตกรรมที่ว่าด้วยภาคการผลิต
2.Smart Consumtion พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น
3.Smart Service มุ่งสู่ภาคบริการเพิ่มมากขึ้น เช่น บริการด้านสุขภาพ การกีฬา บันเทิง อาหารการกินนอกบ้าน เหมือนที่สหรัฐฯทำในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
4.Smart Urbanization การเติบโตของภาคเมืองที่ทำให้เกิด Smart City
5.Smart Digital Economy
ด้าน Externalization การออกมาปฏิสัมพันธ์ภายนอกประเทศของจีน คือการร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เช่น BRI, BRICS Plus, SCO Plus มีนโยบายการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ASEAN, CLMVT, Maritime ASEAN, Mainland ASEAN