โอกาสของไทยในการส่งออก “อาหารสัตว์เลี้ยง” อินทรีย์

473

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) เปิดเผยถึงโอกาสการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมว ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 1 ของโลก

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.)

โดยในปี 2564 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมว อันดับที่ 3 ของโลก[1] (สัดส่วนร้อยละ 9.7) รองจากเยอรมนี (สัดส่วนร้อยละ 12.6) และสหรัฐอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 9.9) โดยไทยมีอันดับดีขึ้น (ปี 2563 ไทยอยู่อันดับ 4 รองจากเยอรมนี สหรัฐฯ และฝรั่งเศส) อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีจุดแข็ง อาทิ มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าคู่แข่งซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และไทยมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยงที่แข็งแกร่ง ปัจจุบัน ผู้บริโภคทั่วโลกนิยมเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น (2) ประชากรเป็นโสดมากขึ้น หรือคนที่มีคู่ก็เลือกที่จะมีลูกน้อยลง หรือไม่มีเลย และ (3) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มีความต้องการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงา หรือแม้แต่การเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน และส่วนประกอบมาจากธรรมชาติ จึงเป็นโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญของโลกในการพัฒนาสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยงอินทรีย์ หากอัตราการเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 1 ของโลกในอนาคต

อาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเป็นสินค้าส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง ปี 2564 ไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมวรวมมูลค่า 65,391 ล้านบาท[2] เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.97 ตลาดส่งออกสำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 30.0) (2) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 14.7) (3) มาเลเซีย (ร้อยละ 7.1) (4) อิตาลี (ร้อยละ 6.7) และ (5) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 5.9) ตามลำดับ จะเห็นว่า ประเทศที่นำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง แสดงถึงโอกาสในการขยายตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปยังประเทศในอาเซียนและเอเชียใต้ อาทิ อินโดนีเซีย (ร้อยละ 3.5) และอินเดีย (ร้อยละ 2.8) พบว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยในอนาคต

จากกระแสปัจจุบัน ผู้บริโภคสินค้ากลุ่มนี้จะเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นสมาชิกครอบครัว ให้ความสำคัญกับสุขภาพและการเลือกซื้อสินค้าสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ มีการเลือกซื้อสินค้าสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติหรืออินทรีย์ ปราศจากสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ (Clean Label) ซึ่งไทยมีจุดเด่นด้านวัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตอาหารสัตว์ที่หลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์ (ปราศจากฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ) ผักและผลไม้ (ฟักทอง มะละกอ แครอท และคะน้า) รวมทั้งเครื่องเทศและสมุนไพรไทย (ขิง ขมิ้น พริกไทยดำ โหระพา และสะระแหน่) อย่างไรก็ตาม การเลือกวัตถุดิบต้องศึกษาข้อมูลด้านสรรพคุณและปริมาณที่ใช้ให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง เช่น ใบสะระแหน่ สามารถช่วยกำจัดกลิ่นปากของสุนัข แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจมีผลกระทบต่อตับหรือไต ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย

ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และมีระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบ เช่น สินค้า Clean Label ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และผ่านการรับรองจากแหล่งที่เชื่อถือได้ รวมถึงโรงงานผลิตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ ต้องสร้างจุดแข็งทางการตลาดและพัฒนาสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงให้น่าสนใจ (เช่น มีเอกลักษณ์ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง) รวมถึงการระบุข้อมูลสินค้าลงในบรรจุภัณฑ์ให้ครบถ้วน เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ต้องทำงานร่วมกันในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยให้มีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้อาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีโอกาสเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกต่อไป


[1] ข้อมูลจาก Trade Map

[2] ข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรปี 2565