เปิด 10 ประเทศนำร่องมาตรการ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก”

316

การมอบนโยบายในการประชุมเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ และฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือเป็นการขับเคลื่อน “ทีมประเทศไทย” (Team Thailand) ทั้งภายในประเทศและที่ประจำการอยู่ต่างประเทศ ทั้งนักการทูตประจำประเทศต่าง ๆ นักการทูตที่มีความเชี่ยวชาญ (Specialist) เช่น ทูตเกษตร ทูตพาณิชย์ และหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบเฉพาะ เช่น BOI ได้มาร่วมกันกำหนดแนวทางและกลยุทธ์ขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศสู่ยุคใหม่ ให้เป็นการทูตที่จับต้องได้

“เป็นการต่างประเทศที่กินได้” นายกรัฐมนตรีกล่าวและว่านโยบายนี้จะสร้างความกินดีอยู่ดี โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง ปรับกรอบการคิดและแนวทางการทำงาน โดยเริ่มจากการตั้งคำถามชวนคิดว่า ประชาชนและภาคธุรกิจต้องการเห็นอะไรในการต่างประเทศ และมีผลตอบรับอย่างไร รวมทั้งให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (customer-centric) มีแนวความรู้สึกทางธุรกิจ Business sense และมีความรู้สึกถึงความเร่งด่วน Sense of urgency และเพื่อตอบคำถามนี้ จึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการทำงาน ให้ความสำคัญกับ “ทำไม” (Why) มากขึ้น ต้องตอบให้ได้ว่า “ทำไปทำไม” และ “ผลกระทบ (Impact) คืออะไร” พร้อมเปลี่ยนวิธีการคิดจาก “ทำไมถึงทำไม่ได้” เป็น “ทำยังไงถึงจะทำได้” และ “ทำยังไงถึงจะสำเร็จ” เพื่อให้รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่เน้นประชาชนทุกคนเป็นศูนย์กลาง 

พร้อมกันนี้ ได้มีการกำหนดประเทศเป้าหมายหลัก 10 ประเทศ ที่ไทยจะส่งเสริมการการค้า-การลงทุน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ตลาดหลัก 5 ประเทศ : สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส ตลาดที่มีศักยภาพ 3 ประเทศ : อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และเกาหลีใต้ ตลาดศักยภาพใหม่ 2 ประเทศ : ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ ตลาดอื่นๆส่วนที่เหลือ ก็ถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญกับประเทศไทย เช่น อียู แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งตลาดเหล่านี้ จะมีการส่งเสริมเป็นอันดับต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหารือเรื่องการที่ประเทศไทยจะต้องมีการเจรจาทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแต้มต่อสำหรับการค้าการลงทุนของประเทศไทยต่อไป และความมุ่งหมายของไทยในการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโออีซีดี (OECD) หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา