กรมทรัพย์สินทางปัญญาหนุนนักสร้างสรรค์คอนเทนต์รุ่นใหม่ จัดประกวดบทการ์ตูนออนไลน์ “T-Toon Script Contest 2024: บทจะเขียนก็ได้เขียน” ใช้ “ความคิดสร้างสรรค์” และ “เทคโนโลยี” เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผสมผสาน Soft Power ไทยเข้ากับกระแสดิจิทัลยุคใหม่
นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประธานในงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลแก่ทีมนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ผู้ชนะเลิศจากกว่า 300 ผลงาน ในการประกวดบทการ์ตูนออนไลน์ “T-Toon Script Contest 2024: บทจะเขียนก็ได้เขียน” ซึ่งจัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ KP Comics Studios และ Kakao Webtoon Thailand ผู้ผลิตและให้บริการแพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ (Webtoon) ยักษ์ใหญ่ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2567 ณ โรงภาพยนตร์ ลิโด้ คอนเน็คท์ สยามสแควร์
นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบาย Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย (Creative Industries) โดยอาศัยกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน คือ การใช้ “ความคิดสร้างสรรค์” ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา และ “เทคโนโลยี” เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะผลงานสร้างสรรค์ที่สามารถผสมผสาน Soft Power ไทยเข้ากับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ได้ เช่น เว็บตูน ซึ่งเป็นการ์ตูนช่องเรื่องยาวที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ที่ผู้อ่านสามารถเพลิดเพลินกับการ์ตูนที่มีความหลากหลายสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ จนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ โดยประเทศไทยมีผู้อ่านเว็บตูนต่อเดือนมากกว่า 3 ล้านคนและมีผู้อ่านทั่วโลกต่อเดือนมากกว่า ๖๐ ล้านคน โดยภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในปี ๒๕๖๘ คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าอุตสาหกรรมประมาณกว่า 44,000 ล้านบาท”
นางสาวกนิษฐาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญา เล็งเห็นความสำคัญและโอกาสในการเติบโตของเว็บตูน ซึ่งเป็นดิจิทัลคอนเทนต์ที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกจึงเปิดเวทีสำหรับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ผ่านการประกวดบทการ์ตูนออนไลน์ “T-Toon Script Contest 2024: บทจะเขียนก็ได้เขียน” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท เปิดโอกาสสู่การเป็นเว็บตูนเรื่องดังบน Kakao Webtoon Thailand พร้อมทั้งไปทัศนศึกษาเพื่อนำเสนอผลงาน ณ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม มีผู้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 300 ผลงาน โดยผู้ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 10 ทีม ได้เข้ารับคำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนางานเขียนให้เป็นบทเว็บตูนที่ดี มีชั้นเชิง และดึงดูดใจผู้อ่าน รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ชนะการประกวด ดังนี้
ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง “เกมล้างกรรม” โดย คุณสุวัฒน์ โปษยะวัฒนากุล (นามปากกา watu koh) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง “โกลาหลมนตร์ตาย” โดย คุณแพงแพร จันทร์ศรี และ คุณอัคริมา สุขดี(นามปากกา ชูก้า ชูก้าราวน์) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เรื่อง “ฝึกพี่ทศกัณฐ์ยังไงให้(ไม่)เป็นพ่อบ้านใจกล้า” โดย นายณัฐปคัลภ์ วังตาล (นามปากกา ณัฐประพันธ์) และรางวัลพิเศษ “ขวัญใจผู้จัด” ได้แก่ เรื่อง “วันวิสากับปริศนาพระเครื่อง” โดย คุณวันเฉลิม วัฒนวรกิจกุล (นามปากกา บทอัศจรรย์)”
นางสาวกนิษฐาฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานเชิงรุกของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์แนวใหม่ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่จะร่วมกันเสริมสร้างและบ่มเพาะความสามารถของคนรุ่นใหม่ให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งผลักดันผลงานสร้างสรรค์ของคนไทยในเวทีระหว่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม และเป็นการผลักดัน Soft Power รูปแบบใหม่ที่ทันสมัยของไทยให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น”