“กง” ขนมโบราณยุคกรุงศรีอยุธยา ของดี “สมุทรสาคร” จากร่องรอยแห่งอดีต สทบ. หนุนเพิ่มมูลค่าต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

606

สัมผัสร่องรอยแห่งอดีตที่ยังรุ่งเรืองในยุคปัจจุบันของขนมท้องถิ่น “ขนมกง” ซึ่งเกิดจากการทำขึ้นเพื่อถวายพระ ในงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดนาโคก จังหวัดสมุทรสาคร สู่เมนูขึ้นชื่อเป็นของฝากที่ขาดไม่ได้ ที่ทุกคนชื่นชอบเมื่อได้ลิ้มลองประวัติจริงๆของขนมที่มีลักษณะเป็นวงกลมและมีเส้นไขว้พาดกัน คล้ายล้อเกวียน ที่เรียกกันว่าขนมกงนั้น เชื่อกันว่ามีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานว่าคนในสมัยนั้นเชื่อว่าการทำรูปร่างของขนมกงให้เหมือนล้อเกวียนนั้น เปรียบเสมือนกงล้อที่หมุนไปข้างหน้า เช่นเดียวกับพระธรรมจักร หรือกงล้อแห่งธรรม ที่ไม่มีวันดับสูญ โดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาคร ขนมกงจึงเป็นเป็นขนมมงคลที่สำคัญ นอกจากจะเป็นขนมในพิธีแต่งงานแล้ว ยังเป็นขนมเซ่นไหว้ที่ขาดไม่ได้ในหลายงานประเพณีประจำปีของท้องถิ่นและงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดนาโคก จังหวัดสมุทรสาครที่จัดขึ้นทุกปีระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ จากวัตถุประสงค์เริ่มต้นทำกันเพื่อถวายพระและขายเฉพาะช่วงงานประเพณีเพียงปีละครั้งเท่าเท่านั้น แต่ปรากฏว่าทุกปีที่พอใครได้ลิ้มลองก็ติดอกติดใจในรสชาติ มียอดสั่งจองสั่งซื้อกันยกใหญ่ จึงเป็นสินค้าของดีชุมชนอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมสู่ “Soft Power ”

จากการดูงานตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ในเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกิจ ของ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ณ กองทุนหมู่บ้านนาโคก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ดร.พรสรรค์ โรจนพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม กทบ กล่าวว่า การลงมาสัมผัสของจริงในพื้นที่ ทำให้เราเห็นว่ายังมีสินค้าดีๆอีกมากมายที่สามารถสนับสนุนเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล  ตามโครงการของรัฐบาลที่นอกจากจะส่งเสริมสนับสนุนสินค้าชุมชนให้กลายเป็นสินค้าระดับสากลแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับสินค้านั้นๆ โดยนอกจากการส่งเสริมสินค้าชุมชนแล้ว เรายังเสริมสร้างคนรุ่นใหม่ให้มาสานต่อภูมิปัญญาไม่ให้ขาดช่วง เริ่มตั้งแต่การนำคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามาทำงานร่วมกัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก ทำประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางใหม่ๆ รวมถึงถ่ายอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นรูปธรรม

ความสำเร็จของชาวบ้านกลุ่มบ้านนาโคก ที่มีแนวคิดที่จะทำขนมกงขายนอกเหนือเทศกาลเพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับตนเอง เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มไปกู้เงินจาก กองทุนหมู่บ้าน จำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นทุนตั้งต้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันนี้สมาชิกได้มีการใช้เงินจำนวนนี้คืนให้กับกองทุนครบเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากประสบความสำเร็จในการขาย สามารถทำกำไรกลับมาหมุนเวียนเป็นทุนอย่างไม่ต้องพึ่งพาใครอีกแล้ว โดยขนมกงของกลุ่มบ้านนาโคกมีส่วนประกอบแบ่งเป็นสองส่วนคือ ชั้นในกับชั้นนอก ชั้นในคือตัวขนมกงที่ผสมด้วยข้าวตอก ถั่วเขียวซีก น้ำตาลมะพร้าวแท้  เมื่อนำส่วนผสมชั้นในมาบดโม่กวนจนแห้งแล้วค่อยคลึงเป็นเส้นแล้วขดแต่งเป็นรูปกง ตากทิ้งไว้หนึ่งคืน ชั้นนอกจะเรียกว่าแป้งชุบทอด แป้งชั้นนอกก็จะประกอบด้วยแป้งข้าวจ้าว กะทิ น้ำปูนใส การทอดก็ต้องใช้ไฟกลาง คอยแยกชิ้นไม่ให้ติดกัน ต้องทิ้งไว้ให้เย็นก่อนบรรจุ จะทำให้ ขนมกงคงความกรอบนาน เสร็จแล้วต้องท้าทายหากใครได้ลองชิมรับรองว่าต้องกลับมาซื้อใหม่แน่นอนและที่สำคัญนอกจากความอร่อยในรสชาติแล้ว ตลอดขั้นตอนการผลิตนั้นขนมกงกลุ่มบ้านโคกนาจะใช้คนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุทำให้สร้างรายได้สร้างกำลังใจให้ผู้สูงอายุใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย

คำกล่าวที่ว่า กองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่เงิน กองทุนหมู่บ้านเป็นอะไรที่ใหญ่โต และมีคุณค่ามากกว่าเงินมากนัก บัดนี้คำกล่าวดังกล่าวเริ่มเป็นจริงบ้างแล้ว โดย สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน “ขนมกง” ให้สอดรับกับนโยบายและเตรียมความพร้อมสู่ Soft Power ของรัฐบาลด้วย