วิริยะประกันภัย ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมปี’67 แตะ4.3หมื่นลบ.

176

นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการต่างๆ โดยยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบประสบการณ์ความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ภายใต้แนวคิด “ปีแห่งความมั่นคงและเป็นธรรม : มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า” โดยตลอดระยะเวลา 77 ปี ของการดำเนินงาน บริษัทฯ ด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่ถึง 68,335 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) อยู่ที่ 180% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานของเงินกองทุนฯ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

“ผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัย อันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 31 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14% เช่นเดียวกันกับตลาดประกันภัยรถยนต์ที่วิริยะประกันภัย ยังครองส่วนแบ่งตลาด เป็นอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 36 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 22% ผลสำเร็จนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคง แข็งแกร่ง และความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ทั้งนี้ ผลประกอบการในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทั้งสิ้น 40,077 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 35,633 ล้านบาท และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 4,444 ล้านบาท โดยในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 43,000 ล้านบาท แบ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ 38,000 ล้านบาท และประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นนโยบาย “ความเป็นธรรม คือ นโยบาย” ซึ่งความเป็นธรรมนี้ยังถูกปลูกฝังและหยั่งรากลึกไปถึงบุคลากรของบริษัทฯ จากรุ่นสู่รุ่น จากพี่สู่น้อง ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 6,700 คน ทั่วประเทศ ทั้งบุคลากรงานส่วนหลังและบุคลากรส่วนหน้าที่คอยให้บริการลูกค้า โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการและการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการจัดการด้านสินไหมทดแทน ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา มีการจ่ายสินไหมทดแทนไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ในส่วนในด้านของผลิตภัณฑ์ประกันภัย บริษัทฯ ได้ใช้ Big Data พัฒนาผลิตภัณฑ์ตาม Personalization and Customer Insights หรือการใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละคน พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด อาทิ V-Motor ขับเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น, Type 1 Good Drive ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก 2+Good Drive, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทางต่างประเทศ V Travel Comprehensive, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิด Carrier, ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองแนวคิด ESG Responsibilities โดยการนำแนวคิด Green Insurance มาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่, Viriyah Privileges เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี ด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการเป็นสมาชิก

ปัจจุบันเรามีผลิตภัณฑ์ประกันภัยออกสู่ตลาดมากกว่า 60 ผลิตภัณฑ์ โดยมีการนำข้อมูล Big Data อันมาจากการได้ดูแลบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับลูกค้ากว่า 8 ล้านกรมธรรม์ จึงนำมาวิเคราะห์ข้อมูลที่ลงลึกถึงความต้องการและความเสี่ยง ทำให้สามารถนำมาประเมินผลเพื่อกำหนดความคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า รวมถึงกำหนดเบี้ยประกันภัยอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่าและพึงพอใจอย่างสูงสุด อีกทั้งบริษัทฯ ยังมุ่งสร้างประสบการณ์อันคุ้มค่าผ่านตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัยที่มีอยู่เกือบ 6,000 คนทั่วประเทศ ที่พร้อมเข้าไปดูแลลูกค้าในพื้นที่ละแวกใกล้กับสำนักงานตัวแทน และที่สำคัญสำนักงานมาตรฐานตัวแทนของวิริยะประกันภัย ยังถูกยกระดับการบริการให้สามารถดำเนินการออกกรมธรรม์ให้แก่ลูกค้าได้โดยตรงเทียบเท่ากับสาขาของวิริยะประกันภัย

นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการพัฒนางานบริการด้านสินไหมทดแทนและงานรับประกันภัยที่สำคัญในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านระบบงาน เรามีการพัฒนา ทบทวน ปรับปรุง Redesign ระบบงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสินไหมทดแทนและรับประกันภัย ให้กระชับ สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดทอนงานเอกสาร ระยะเวลา และความซ้ำซ้อนในขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น  ด้านบุคลากร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด บริษัทฯ จึงมีนโยบายมุ่งเน้นที่จะพัฒนาศักยภาพในระดับที่เข้มข้น ทั้งการจัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะ เติมเต็มองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการให้บริการลูกค้า เพื่อให้บุคลากรของเรามีความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นมืออาชีพอย่างที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นส่วนหน้าที่ต้องให้บริการลูกค้าโดยตรง และส่วนหลังที่สนับสนุนการปฏิบัติการหรือดำเนินงานต่าง ๆ 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงได้จัดอบรมความรู้หลักสูตรเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่สรุปความเสียหาย รวมไปถึงบริษัทคู่ค้า ตัวแทนประกันวินาศภัย และศูนย์ซ่อมมาตรฐานของวิริยะประกันภัยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้าได้อย่างมืออาชีพอีกด้วย  

ส่วนในด้านการบริหารจัดการข้อมูล ด้วยบริษัทฯ มีข้อมูลในการรับประกันภัยและข้อมูลด้านสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า เราจึงได้ทบทวน ออกแบบ ปรับปรุงโครงสร้างและพัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านกระบวนการ Data Analytics อันนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และการบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าโดยตรง ทั้งงานรับประกันภัย งานต่ออายุกรมธรรม์  และงานสินไหมทดแทน พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาในส่วนของระบบงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ  ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังเชื่อมโยงงานรับประกันภัยและงานบริการด้านสินไหมทดแทนเข้าด้วยกัน เพื่อส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าแบบไร้รอยต่ออีกด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของงานบริการสินไหมทดแทน ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ขยายการบริการแจ้งเคลมผ่านวิดีโอคอล  “VClaim on VCall” ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ซึ่งบริการนี้ได้รับความนิยมจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งบริษัทฯ ยังนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมิน วิเคราะห์ และสรุปความเสียหายด้านสินไหมทดแทน ทำให้คู่ค้าบริษัทฯ ได้รับการอนุมัติงานซ่อมและค่าซ่อมที่รวดเร็ว และลูกค้าได้รับรถยนต์กลับไปใช้งานตามปกติได้เร็วขึ้น

“บริษัทฯ ยังมองถึงโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และในอนาคต ทั้งในเรื่องของเทรนด์การดูแลสุขภาพและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายมากขึ้น เป็นโอกาสสำหรับบริษัทฯ ในการขยายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบทุกโจทย์ของการใช้ชีวิตสมัยใหม่  เช่น ประกันคุ้มครองเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า ประกันรถยนต์ตามระยะทางที่ขับจริง ประกันไซเบอร์ ฯลฯ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของคู่ค้า และลูกค้าได้มากขึ้น ความท้าทายในเรื่องของ Claim Inflation การบริหารจัดการต้นทุนสินไหมที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเรื่องของ Cost Technology ในการดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากความซับซ้อนของเทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการความคาดหวังของลูกค้า ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยความท้าทายสำคัญที่บริษัทฯ ต้องบริหารจัดการอย่างพิถีพิถันด้วยเช่นกัน

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ด้านประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) เป้าหมายปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นดูแลและพัฒนาการให้บริการลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีเหนือความคาดหวังของลูกค้าทุกท่าน ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงที่เป็นธรรม ทั้งยังสอดรับปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่มั่นคง โปร่งใส จริงใจ และเป็นธรรม ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการวางแผนขยายประกันภัย Non-Motor ให้เติบโตเพิ่มขึ้น 11% โดยจะมุ่งเน้นไปที่การรับประกันความเสี่ยงภัยรายย่อยด้านส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยบ้าน และประกันภัยความรับผิด

“สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของประกันสุขภาพส่วนบุคคล เป็นไปในทิศทางเชิงบวก 11.48% สอดคล้องกับภาพรวมของตลาดที่คนไทยตระหนักถึงประโยชน์ของประกันสุขภาพมากขึ้น และในส่วนของการเติบโตภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริษัทฯ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงแผนประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ V Travel Comprehensive เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในขณะเดินทาง และในส่วนของภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ยังคงเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตและแนวโน้มที่สดใส ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯ มี Network ที่ครอบคลุม และความพร้อมด้านบริการ”

นางฐวิกาญจน์ฯ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานในปี 2567 ว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล ประกันสุขภาพเฉพาะโรค และประกันภัยโรคร้ายแรง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มความคุ้มครอง และบริการที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของลูกค้า (Good Health and Wellbeing) นอกจากนี้ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทาง เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลอดไปจนถึงการพัฒนาประกันภัย Carrier Liability Insurance, Cyber Security Insurance และ Professional Liability Insurance ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละประเภทธุรกิจ

บริษัทฯ ยังมีนโยบายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองแนวคิด ESG Responsibilities ออกมาในรูปแบบ Green Insurance ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ช่วยส่งเสริมการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ จึงนำแนวคิด Green Insurance มาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่ ในส่วนของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบงาน Non-Motor บริษัทฯ มี Roadmap ในการพัฒนาระบบ New Core System โดยมีการเริ่มใช้งานระบบ New Core Phase 1 ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยการเดินทาง เมื่อช่วงธันวาคม 2566 และ Phase ต่อไปในปี 2567 จะเป็นในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการบริการประกันภัยและสินไหมรองรับการเติบโตของบริษัทฯ

“นอกเหนือจากความคุ้มครองที่วิริยะประกันภัยดูแลลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง วิริยะประกันภัยได้ยกระดับการดูแลลูกค้าดั่งแคมเปญบริษัทฯ ในปี 2567 “มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า” ผ่านโครงการ Viriyah Privileges “