นักวิชาการมองหวย L6 และ N3 ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ

315

ภาคประชาชนอัดรัฐลักไก่  ทิ้งทวน ดันหวยรูปแบบใหม่เข้า ครม.  ไม่สนเสียงค้าน  ด้านนักวิชาการชี้ไม่ควรออกหวยตัวใหม่ หวั่นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ  ไม่เคยมียุคไหนที่เพิ่มสลากมากเท่านี้ เพราะสูงกว่าเดิมถึงสามเท่า 

ต่อกรณี รมต.คลังเสนอต่อที่ประชุมครม.ในวันอังคารที่ 14 มีนาคม เพื่อขอความเห็นชอบในการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่ L6 และ N3   รศ.ดร.นวลน้อย  ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน  แสดงความเห็นว่า

“ต้องถามก่อนว่ารัฐบาลต้องการอะไรจากการเพิ่มผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เพื่อหารายได้เพิ่มหรือเพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคา  หากเป็นประเด็นการหารายได้เพิ่ม ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มสลากจาก 36 ล้านฉบับเป็น 100 ล้านฉบับ เพิ่มเป็น 3 เท่า  ทำให้รัฐบาลมีรายได้จากสลากเพิ่มขึ้นเยอะมากจากการซื้อสลากของประชาชน   ประเทศไทยไม่เคยมีสลากมากเท่านี้มาก่อน”

“สำหรับสลากตัวใหม่ L6 และ N3 ไม่แน่ใจว่าโครงสร้างของราคาจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าออกมาคล้าย ๆ เดิม  เท่ากับรัฐบาลจะมีส่วนแบ่งด้วย ซึ่งเป็นรายได้ที่รัฐบาลได้มาจากผู้มีรายได้น้อย  ถามต่อว่าในลักษณะแบบนี้มันไปกระตุ้นเศรษฐกิจไหม คำตอบคือไม่กระตุ้น  เพราะกิจการสลากเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีห่วงโซ่การผลิตสั้นมาก จึงไม่ได้ก่อให้เกิดผลต่อวัฏจักรการผลิตสักเท่าไหร่    แต่จะมีผลต่อการบริโภคมากกว่า  ลองคิดง่าย ๆ สลาก 1 ชุด มี 1 ล้านใบ เป็นเงินรางวัล 60% มีผู้ถูกรางวัลเพียง 14,168 รางวัล และคนถูกรางวัลใหญ่จะนำเงินมาใช้ไม่มาก สลากจึงเป็นกิจกรรมที่แย่งชิงตลาดการบริโภคสินค้าอื่นๆ ดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจจริง การที่ประชาชนซื้อสลากงวดละ 100 ล้านใบ ๆ ละ 80 บาท คิดเป็นเงิน 8,000 ล้านบาทต่องวด หรือปีละ 192,000 ล้านบาท แทนที่ประชาชนจะนำเงินจำนวนนี้ไปใช้เพื่อการบริโภคสินค้าและบริการอื่นๆ  การเพิ่มสลากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริโภคในลักษณะที่ไม่เป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม”

“ส่วนการออกผลิตภัณท์ตัวใหม่เพื่อสู้กับหวยใต้ดินนั้น ต้องถามว่าจะสู้อย่างไร เพราะถ้าไปดูบทเรียนสมัยที่ออกหวยเขียน 2 ตัว 3 ตัว ทำได้แค่ดึงส่วนแบ่งมาบางส่วน บางส่วนก็ดึงไม่ได้  ในขณะนี้เศรษฐกิจไทยก็ไม่ค่อยจะดี รัฐบาลก็ยังคิดจะหารายได้จากการออกผลิตภัณฑ์หวยเพิ่มขึ้น ก็รู้สึกเป็นกังวลว่าหวยใต้ดินก็ยังอยู่ และจะมีหวยอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก  ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยเพราะไม่อยากให้เพิ่มการพนันในสังคม ” รศ.นวลน้อย กล่าว

ด้านนายธนากร  คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า “การแก้ปัญหาสลากแพงด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ เป็นวิธีการที่ล้มเหลวซ้ำซาก ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 11 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธตั้งแต่สมัยคสช. มีการพิมพ์สลากเพิ่มทั้งหมด 11 ครั้ง  ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล    ขณะที่การเปลี่ยนผ่านการจำหน่ายสลากใบมาสู่การจำหน่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ แสดงให้เห็นผลว่าทำให้สามารถจำหน่ายสลากได้ในราคา 80 บาทจริง เพียงแต่ว่ายังเป็นสลากส่วนน้อยเท่านั้น จึงยังดึงราคาสลากทั้งตลาดลงมาไม่ได้  สิ่งที่ควรทำต่อคือ การเพิ่มจำนวนสลากเข้าสู่ระบบดิจิตัลให้มากพอ  อย่างน้อย 50% ของสลากทั้งหมด หรือ 50 ล้านใบ  ก็น่าจะมีผลทำให้ราคาสลากลงมาที่ 80 บาทได้   เรื่องนี้สำนักงานสลากฯ ควรทำโดยเร็ว แต่ก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลอะไรถึงเพิ่มจำนวนสลากฯเข้าระบบได้ช้ามาก  ทั้งที่เดินมาถูกทางแล้ว และก็ยังไม่เห็นความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องออกสลาก L6 มาซ้ำซ้อนกับสลากใบที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน และดูมีแนวโน้มจะเกิดการ “ตีกิน” เติมจำนวนสลากเพิ่มเข้ามาอีก นอกเหนือจากสลาก 100 ล้านใบเดิม”

“ในช่วงปลายรัฐบาลอย่างนี้ หากครม.มีมติที่ดูเป็นการทิ้งทวนเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง จะทำให้รัฐบาลถูกครหาได้ กลายเป็นการจบที่ไม่สวยของรัฐบาลนี้  อีกทั้งเป็นการตอกย้ำว่าที่เคยสัญญาว่าจะแก้ปัญหาสลากแพง 8 ปีผ่านไปยังทำไม่สำเร็จ และกลายเป็นยุคที่ทำให้หวยเฟื่องฟูมากที่สุด”

“ประเด็นที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ การอ้างว่าการจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ครั้งนี้ได้ทำตามกฎหมายนั้น พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนดให้การจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคมก่อน  ซึ่งสำนักงานสลากฯได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการในสองเรื่องนี้   แต่เท่าที่ทราบในช่วงที่มีการรับฟังความเห็นตามภูมิภาคต่าง ๆ มีเสียงคัดค้านค่อนข้างมากจากผู้ค้ารายย่อย รวมทั้งภาคประชาสังคม  ขณะที่รายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคม ก็ไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน  ทำให้ดูเหมือนได้ทำแล้วเท่านั้น รับฟังแต่ไม่ได้ยิน และงุบงิบว่าการออกผลิตภัณฑ์ใหม่จะเกิดผลดีและประชาชนก็เห็นด้วย ที่ถูกแล้วบอร์ดสลากควรต้องชี้แจงต่อข้อคัดค้านทั้งหมด และควรเปิดเผยรายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคมให้ประชาชนได้ทราบ” นายธนากร กล่าว