SACICT นำงานหัตถศิลป์สร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจฐานราก

1065

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เดินหน้าปั้นศูนย์องค์ความรู้งานหัตถศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและผลักดันให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางศิลปหัตถกรรมอาเซียน พร้อมนำผู้ประกอบการอวดโฉมผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ยุคใหม่จากงาน Crafts Bangkok 2019 ซึ่งเตรียมจัดอย่างยิ่งใหญ่และมีความหลากหลายมากที่สุด ระหว่างวันที่  4 – 7 เมษายน นี้ ที่ไบเทค บางนา

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวภายหลังนำผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ยุคใหม่ที่เตรียมไว้แสดงในงาน Crafts Bangkok 2019 เข้าทำเนียบเพื่อแสดงให้พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ชมว่า “ศิลปหัตถกรรมได้ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเมื่อว่างเว้นจากการทำการเกษตรได้ใช้เวลาทำงานศิลปหัตถกรรมมาตั้งแต่ครั้งอดีตและสืบทอดต่อเนื่องกันมา ด้วยภารกิจของ SACICT ในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมของไทย ได้ดำเนินงานในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน นำองค์ความรู้ด้านหัตถศิลป์เข้าไปพัฒนาชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในด้านบุคลากร ผลิตภัณฑ์ และการตลาดที่ตอบโจทย์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชาวบ้านและชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

พัฒนาการของงานศิลปหัตถกรรมนั้น จากเดิมที่เป็นงานเชิงช่างชั้นสูงสำหรับใช้งานเฉพาะกลุ่ม ในกลุ่มคนชั้นสูงเท่านั้น ปัจจุบัน SACICT ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ไปสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หรือ “Today Life’s Crafts” เพื่อสร้างคุณค่าความงดงามของศิลปหัตถกรรมไทยประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน โดยมีการต่อยอดนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในแนวคิด “Retell the Details : เล่าเรื่องของเรื่องเล่า” บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังงานฝีมือแห่งภูมิปัญญาในมิติที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมและแรงบันดาลใจ ผสมผสานความร่วมสมัยที่ตอบโจทย์ทุกมิติของการใช้ชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Crafts Bangkok 2019 โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2562 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ฮอลล์ EH 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา บนพื้นที่ 9,000 ตารางเมตร กว่า 350 คูหา ซึ่งเป็นงานคราฟต์ที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดของประเทศ รวมรวมงานคราฟต์ทุกประเภทจากทั่วประเทศ อาทิ ผ้าทอมือ งานจักสาน งานเครื่องปั้นดินเผา งานเครื่องประดับ เครื่องหนัง ของใช้ของตกแต่งบ้าน และผลิตภัณฑ์นวัตศิลป์อื่นๆ

ภายในงานมีการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมมากมาย พลาดไม่ได้กับงานคราฟต์ยุคใหม่ที่โดดเด่นเรื่องดีไซน์และเต็มเปี่ยมด้วยไอเดียใหม่ๆ ของสมาชิกของ SACICT เพื่อตอบโจทย์ในทุกไลฟ์สไตล์ใน “Nowadays” ร่วมชื่นชมกับคราฟต์รักษ์โลก หัตถศิลป์ที่ใส่ใจในกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ร่วมค้นหาแรงบันดาลใจในมุมมองที่แตกต่างจากหัตถศิลป์มืออาชีพจาก ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมภายใต้แนวคิด “Storytelling” เรียนรู้วัฒนธรรมร่วมจากงานคราฟต์ต่างแดนพันธมิตรของ SACICT ใน “International Crafts” แบ่งปันความคิดกับคนรุ่นใหม่ด้วยผลิตภัณฑ์และการจัดแสดงของสถาบันการศึกษา ภายใต้แนวคิด “New Details” ติดอาวุธการตลาดด้วยผลงานของผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาแบรนด์ใน Craft Tales และเปิดโลกไปกับเทรนด์งานคราฟต์ล่าสุด และสามารถลงมือทำ DIY งานคราฟต์เก๋ๆด้วยตนเอง รวมทั้งได้ร่วมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหมู่คนรักงานคราฟต์ สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ เกิดการซื้อขายกระจายรายได้และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการได้เติบโตและขยายช่องทางการตลาดใหม่ ๆ

SACICT พร้อมผลักดันไทยในการเป็นศูนย์กลางศิลปหัตถกรรมแห่งอาเซียน มีการพัฒนาเครื่องมือผ่านระบบ Archives บูรณาการข้อมูล Big Data จากระบบสืบค้นข้อมูลงานหัตถกรรมในรูปแบบจดหมายเหตุ นำร่องใน 10 ประเภท ได้แก่ เครื่องหิน เครื่องดิน เครื่องโลหะ เครื่องจักสาน เครื่องไม้ เครื่องกระดาษ เครื่องทอ เครื่องรัก เครื่องหนัง และหัตถกรรมอื่นๆ โดยรวบรวมองค์ความรู้จากตัวบุคคลผ่านครูและทายาท รวมถึงแหล่งเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบสานอย่างถูกต้อง และยังได้ขยายความร่วมมือในการขยายองค์ความรู้ในประเทศสมาชิกอาเซียน สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน และในปี 2562 นี้เป็น “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน” โดยร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรด้านศิลปหัตถกรรมในอาเซียนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในวัฒนธรรมร่วม (Cross Cultural Crafts) ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่ออนุรักษ์และสืบสานหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย (Forgotten Heritage) การเสริมสร้างเครือข่ายนักสร้างสรรค์หัตถกรรมอาเซียน ก่อให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางวัฒนธรรม