ถมคลองเปรมฯ ปัญหาที่ไร้คำตอบ​ สิทธิชุมชนที่รัฐหลงลืม​ ชาวบ้านจะพึ่งใคร?

316

22​ กรกฎาคม​ 2566​ กลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรมฯ​ ได้จัดการเสวนาเรื่อง​ “ถมคลองเปรมฯ​ ปัญหาที่ไร้คำตอบ​ สิทธิชุมชนที่รัฐหลงลืม​ ชาวบ้านจะพึ่งใคร?” โดยมี รศ.ดร.เสรี​ ศุภราทิตย์​ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ​ และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ​ มหาวิทยาลัยรังสิต​ ดร.ศักดิ์ณรงค์​ มงคล​ ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย​ มหาวิทยาลัยรังสิต​ และนายเจษฎา​ ดนตรีเสนาะ​ สส.ปทุมธานีเขต2 พรรคก้าวไกล​ เป็นวิทยากร​ นายชัยวัฒน์​ วนิชวัฒนะ​ บรรณาธิการ​ The​ Leader​ Asia ดำเนินการเสวนา

ดร.ศักดิ์ณรงค์กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง​ ว่า​ 6 หน่วยงานรัฐกระทำการละเมิดกฎหมายด้วยการถมคลองเปรมประชากรเพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคงและสร้างเขื่อน​  แต่ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง โดยอ้างว่า​หน่วยงานต่างๆปฏิบัติตามคำสั่งคสช.ซึ่งรัฐธรรมนูญปี​2560 บัญญัติว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย​ข้อพิพาทนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครองนั้น​ ตนเชื่อว่ายังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้

“หลังการรัฐประหารปี​ 2557​ มีหลายคดีที่อ้างคำสั่งคสช.แต่ศาลปกครองก็รับพิจารณาวินิจฉัย​ ขณะที่การถมคลองเปรมฯมีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน​ เป็นโครงการที่รัฐต้องการแก้ปัญหาบุคคลรุกล้ำริมคลอง​ แต่กลายเป็นเรื่องที่รัฐรุกล้ำลำคลองเสียเองโดยอาศัยอำนาจรัฐและกลไกของรัฐ”

รัฐธรรมนูญปี2560 คุ้มครองคำสั่งคสช.ก็จริง แต่มิได้คุ้มครองทั้งหมด​ ไม่ได้หมายความว่าทุกการกระทำจะไม่ผิดเลย  ศาลควรพิจารณาในรายละเอียดเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ​ โดยเฉพาะหากมีผลกระทบระดับรุนแรงกว่าปกติ

รศ.ดร.เสรี​ กล่าวว่า ผู้รุกล้ำริมคลองเดิมจะปลูกบ้านใต้ถุนสูง​ อาจจะมีผลต่อการระบายน้ำแต่น้ำยังไหลได้​ ต่างกับการถมคลองแบบถาวร​ จากคลองเปรมฯบริเวณตำบลหลักหกที่เคยกว้าง 50 เมตร​ เหลือแคบเพียงไม่ถึง 25 เมตร​ มีผลให้ช่วงฝนตกหนักหรือน้ำหลาก​ ระดับน้ำจะยกสูงและท่วมบริเวณใกล้เคียง​ ชุมชนรอบๆจะได้รับผลกระทบมากขึ้น

“ผมยินดีเป็นพยานในศาล​ เรื่องนี้ต้องพิสูจน์กันด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์​ การถมคลองเป็นเรื่องผิดหลักการสากล​ เพราะเท่ากับลดพื้นที่รับน้ำ​ แย่งที่น้ำ” รศ.ดร.เสรี กล่าว

ด้านนายเจษฎาแสดงความเห็นว่า​ ตนในฐานะสส.ยินดีทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน​ ส่วนในสภานั้นมีความตั้งใจจะเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย​ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้สามารถนำปัญหาการถมคลองเปรมฯเข้าสู่สภาเพื่อหาช่องทางแก้ไขต่อไปได้

“พรรคก้าวไกลต้องการออกพ.ร.บ.มาแก้ปัญหาผลกระทบจากมาตร​า​ 44​ของคสช. แต่ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาลก็คงไม่ง่าย” นายเจษฎากล่าว