ดร.เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า “Plant Factory เป็นเทคโนโลยีที่ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี โดยระบบนี้สามารถปลูกพืชได้มากกว่า 10 ชั้น (ขึ้นกับชนิดของพืช) ซึ่งจะเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด โดยประเทศไทยจะนำเอาเทคโนโลยี Plant Factory มาประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชในกลุ่มสมุนไพร ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ เช่น ความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุต่างๆ และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต โดยเลือกใช้หลอดไฟ LED เป็นแหล่งกำเนิดของแสง เนื่องจากให้ความร้อนน้อยกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ ประหยัดไฟมากกว่า และสามารถเลือกสีของแสงตามความเหมาะสมของต้นพืช ซึ่งระบบ LED Plant Factory นั้น จะทำให้สามารถประหยัดพลังงานแสง ช่วยลดต้นทุนการจัดการความร้อน มีกระบวนการผลิตที่แม่นยำสูง ผลผลิตที่ได้ปราศจากการปนเปื้อน ที่สำคัญคือ สามารถกำหนดให้สมุนไพรสร้างสารออกฤทธิ์ตามความต้องการได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมุนไพรบางตัวจะมีการผลิตสารสำคัญทางยาอย่าง น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) หรือ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ออกมาในเวลาพืชเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อม หรือสามารถใช้ชนิดสีของแสงเป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโต เช่น ใช้แสงสีน้ำเงินเร่งการเจริญเติบโตช่วงทำใบ หรือใช้แสงสีแดงช่วยเร่งการทำดอก เป็นต้น”
ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อไปว่า “ในประเทศญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำ LED Plant Factory อยู่ที่ประมาณ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร หรือประมาณ 127,000 บาทต่อตารางเมตร โดยสามารถสร้างรายได้ปีละประมาณ 75,000 บาทต่อตารางเมตร ทำให้สามารถคืนทุนได้ภายใน 2-3 ปี ซึ่งหลายๆ ประเทศได้มุ่งเป้าพัฒนา LED Plant Factory ในการผลิตสารสำคัญทางชีวภาพจากพืชเชิงการค้า เช่น ประเทศญี่ปุ่น (200แห่ง) ไต้หวัน (100 แห่ง) จีน (50 แห่ง) สหรัฐอเมริกา (25 แห่ง) เกาหลี (10 แห่ง) และสิงคโปร์ (2 แห่ง) นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพัฒนา Plant Factory ให้เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการผลิตพืชในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต เช่น ในทะเลทราย หรือในอวกาศ เป็นต้น”
ข้อมูล-ภาพประกอบ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)