สมาคมเพื่อนชุมชน หรือ CPA (Community Partnership Association) แถลงผลการดำเนินงานปี 2566 โชว์ผลงานตลอดระยะเวลา 13 ปี ในการขับเคลื่อน และยกระดับ “มาบตาพุดคอมเพล็กซ์” ในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มุ่งผลักดันให้จังหวัดระยองก้าวสู่ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับสูงสุด” พร้อมเดินหน้าสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” อย่างเป็นรูปธรรม ขานรับนโยบายประเทศ เพื่อให้จังหวัดระยองเป็นเมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม และชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน
สมาคมเพื่อนชุมชน เป็นโมเดลความร่วมมือของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จ.ระยอง ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดย 5 บริษัทผู้ก่อตั้ง ได้แก่ กลุ่ม ปตท. กลุ่มเอสซีจี โรงไฟฟ้า บีแอลซีพี กลุ่มบริษัทดาว (ประเทศไทย)และกลุ่มจีพีเอสซี ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมากว่า 13 ปี โดยปัจจุบันมี นายมงคล เฮงโรจนโสภณ เป็นนายกสมาคมเพื่อนชุมชน ซึ่งจะครบวาระในปี 2567 นี้ และพร้อมส่งไม้ต่อให้กับ นายทศพร บุณยพิพัฒน์ เป็นนายกสมาคมฯ คนใหม่ต่อไป
นายมงคล เฮงโรจนโสภณ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เผยว่า “ ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่ผ่านมา สมาคมเพื่อนชุมชนได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อลดปัญหาและเร่งพัฒนาจังหวัดระยอง ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG มาเป็นกรอบการดำเนินงาน จนเกิดผลลัพท์ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ในปี 2566 ได้ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งบริษัทสมาชิกฯ ได้ร่วมกันดำเนินมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยสามารถลดก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 360,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 30 ล้านต้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำผ่านโครงการ LESS Model (Low Emission Support Scheme) สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 12,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น”
“สมาคมเพื่อนชุมชน ยังเดินหน้าโครงการด้านสังคมอีกมากมาย อาทิ การให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี และทุนอาชีวะเพื่อนชุมชน ช่วยสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้กับเยาวชนในจังหวัดระยอง รวมกว่า 620 คน รวมทั้งโครงการด้านสาธารณะสุข อาทิ ทุนพยาบาลเพื่อนชุมชน รวม 440 ทุน ซึ่งนักเรียนทุนพยาบาลทั้งหมดได้สำเร็จการศึกษาและเข้าทำงานในโรงพยาบาลรัฐ 9 แห่งใน จ.ระยอง ช่วยดูแลและให้บริการสุขภาพแก่ชาวระยองรวมกว่า 300,000 คน
นอกจากนี้ สมาคมเพื่อนชุมชนยังมุ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยได้พัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายกว่า 58 กลุ่ม พร้อมส่งเสริมช่องทางการตลาด สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนกว่า 85 ล้านบาท นับจากปี 2559 จนถึงปัจจุบัน”
นายทศพร บุณยพิพัฒน์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชนคนใหม่ กล่าวว่า “เป้าหมายของสมาคมเพื่อนชุมชนในอนาคตเรายังคงมุ่งเน้นความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ จ.ระยองต่อไป เพื่อขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้นแบบในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับที่ 5 (Happiness) ระดับสูงสุด โดยจะยังคงให้ความสำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อสังคม และบรรษัทภิบาล ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำผู้ประกอบการและชุมชนมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) โดยสมบูรณ์สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นให้กับพี่น้องชุมชน
นายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “การขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ของชาวระยอง ของสมาคมเพื่อนชุมชนตลอด 13 ปีที่ผ่านมา นับเป็นต้นแบบความร่วมมือของภาคเอกชนที่มีพลังในการขับเคลื่อนงานร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างเข้มแข็งและสมบูรณ์ จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญของจังหวัดที่จะเดินหน้าต่อไป ในการร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน จ.ระยอง ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับสูงสุด โดยการสร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์รองรับการเติบโตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพราะ จ.ระยอง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเพื่อยกระดับเมืองและประชาชนให้มีคุณภาพชีวิติที่ดีและมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการดูแลสิ่งแวดล้อม”
นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประจำสำนักผู้ว่าการ กล่าวว่า “นับเป็นความร่วมมือของสมาคมฯ ในการขับเคลื่อนงานที่เข้มแข็ง ผลงานที่ผ่านมามีโครงการต่าง ๆ ที่ได้สร้างประโยชน์ในพื้นที่ ทั้งด้าน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสัมคม จนเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุก ที่เป็นความร่วมมือของสมาคมฯ กลุ่มผู้ประกอบการ และชุมชน ภาคใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ในพื้นที่ 5 นิคมอุตสาหกรรม 1 ท่าเรือ มีประเด็นข้อร้องเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด (คิดเป็น ร้อยละ 80) โดยขับเคลื่อนให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับ Eco-Champion Eco-Excellence และ Eco-World Class ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ จ.ระยอง ก้าวสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับสูงสุดคือ ระดับ Happiness เป็นโมเดลความร่วมมือของผู้ประกอบการที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน