เปิดเวที ชำแหละ แก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551  

90

เปิดเวที ชำแหละ แก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551  กมธ.ภาคสังคม  ค้านตัวแทนธุรกิจแอลกอฮอล์เป็นกรรมการนโยบาย  ถ้าให้โฆษณาได้ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด ดันเพิ่มรับผิดทางแพ่งขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี  ย้ำมุ่งเศรษฐกิจและท่องเที่ยว ได้ไม่คุ้มเสีย  ทำลายนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ท้ายสุดระบบสาธารณสุขไม่อาจรับมือได้อีกต่อไป  ด้านบอร์ด สสส.เผย ทีดีอาร์ไอชี้ชัดรายได้เพิ่มจากภาษี 150,000 ล้านไม่คุ้มกับต้นทุนทางสังคมที่เสียไป 170,000 ล้านบาท 

เมื่อช่วงบ่าย  วันที่ 25  กันยายน 2567  ณ ห้องบุษบงกช บี ชั้น 2 โรงแรมยอรัล ริเวอร์ บางพลัด กรุงเทพฯ, มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับ สมาคมการ์ตูนไทย เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดประชุมเสวนาหัวข้อ “ชำแหละแก้ไข พ.ร.บ.แอลกอฮอล์…ก้าวหน้าหรือล้าหลัง”  โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายชูวิทย์  จันทรส  ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์( ครปอ.)  นายธีรภัทร์  คหะวงศ์  ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  โดยมี นายจิระ ห้องสำเริงผู้ดำเนินรายการ The Leader  Insight FM 96 เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ประธานเปิดการประชุมกล่าวถึง ความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจทุก 3 ปีว่า ข้อมูลล่าสุดในปี 2564 พบว่าประชากรวัย 15 ปีขึ้นไปจำนวน 15.96 ล้านคนหรือร้อยละ 28.0 เป็นนักดื่ม โดยเพศชายดื่มมากสุดจำนวน 12.77 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ46.46 และพบว่าวัยทำงานตอนต้นอายุ  25-44 ปีคิดเป็นร้อยละ 36.53 เป็นนักดื่มประจำ ส่วนนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปีมีจำนวน 1,381,449 คน คิดเป็นร้อยละ 5.95 เมื่อเปรียบเทียบกับวัยอื่นแล้วแม้จะน้อยกว่าแต่ถ้าเราไม่ป้องกันหรือทำให้ลดจำนวนลงนักดื่มหน้าใหม่เหล่านี้จะกลายเป็นนักดื่มประจำและดื่มหนักต่อไปในอนาคต

บอร์ดสสส.กล่าวต่อว่าการผลักดันของพรรคการเมืองในการเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551ที่จะกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ในเดือนตุลาคม 2567 นี้ จะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของคนทำงานรณรงค์ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ทั้งป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และลดนักดื่มหน้าเก่าที่เป็นนักดื่มหนัก ตัวเลขจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI ระบุว่าปี 2565 ธุรกิจแอลกอฮอล์สร้างรายได้จำนวน 600,000 ล้านบาท ทำให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีจากแอลกอฮอล์มากถึง 150,000 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็สร้างต้นทุนทางสังคมทั้งเรื่องสุขภาพ อุบัติเหตุ อาชญากรรมถึง 170,000 ล้านบาท กลายเป็นว่าจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่างบประมาณที่นำแก้ปัญหาผลกระทบถึง 20,000 ล้านบาท  ดังนั้นการแก้กฎหมายเปิดช่องให้ขายและดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้นจึงเป็นความเสี่ยงของคนทำงานรณรงค์แน่นอน จึงหวังว่านักวาดการ์ตูนที่มาร่วมงานวันนี้เมื่อรับรู้ข้อมูลแล้วจะช่วยกันสื่อสารสู่สังคมเพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และลดนักดื่มหน้าเก่าไปพร้อมกัน

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่รับหลักการมี 5 ร่าง รวมทั้งร่างที่ตนกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 92,978 คน เป็นผู้เสนอ สาระสำคัญคือจะแก้ไขให้เหลือคณะกรรมการระดับชาติเพียงชุดเดียว มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีความพยายามเพิ่มฝ่ายธุรกิจแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นกรรมการด้วย ส่วนคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดจะมีทั้งในกทม. และระดับจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  มีการเพิ่มสัดส่วนผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาเด็กและเยาวชนในจังหวัด มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจในบางเรื่องไปที่คณะกรรมการจังหวัดส่วนเรื่องการควบคุมนั้น มาตรา 29 ห้ามขายให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และคนเมาที่ครองสติไม่ได้ โดยเพิ่มการตรวจบัตร เพิ่มการรับผิดทางแพ่งหากขายให้คนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีและผู้นั้นไปก่อเหตุให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย มาตรา 30 อาจพิจารณาให้ขายผ่านเครื่องขายอัตโนมัติที่สามารถยืนยันตัวผู้ซื้อได้ และมาตรา 31 การควบคุมสถานที่ดื่มส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ

ส่วนประเด็นการควบคุมการโฆษณานั้นนายธีรภัทร์ กล่าวว่า ตามมาตรา 32 ห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เว้นแต่เป็นการกระทำโดยผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือผู้ขาย เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยอย่างน้อยต้องคำนึงถึงข้อพิจารณาดังต่อไปนี้  หนึ่ง การให้ข้อมูลข่าวสารความรู้หรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณ มาตรฐาน ส่วนประกอบหรือแหล่งกำเนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่มีลักษณะการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สอง เป้าหมายต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี สาม ใช้ช่องทางการสื่อสารที่แพร่หลายหรือประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้โดยสะดวก สี่ ไม่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง หรือทำให้เข้าใจผิดในสรรพคุณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ห้า กำหนดให้มีข้อความคำเตือน

ด้านนายชูวิทย์  จันทรส  ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่าก่อนที่ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ประเด็นแอลกอฮอล์ไม่มีการควบคุมธุรกิจการโฆษณาได้เต็มที่  ไม่มีพื้นที่ห้ามขาย เกิดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับสูงมาก  จุดเปลี่ยนคือ ในปี 2548 มีความพยายามนำเบียร์ช้างเข้าตลาดหลักทรัพย์เกิดกระแสต่อต้าน รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจึงให้กระทรวงสาธารณสุขยกร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นมาแต่ก็เกิดการรัฐประหาร จากนั้นเครือข่ายภาคประชาชนจึงร่วมกันผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจนมีผลบังคับใช้ แต่ด้วยผลประโยชน์หลายหมื่นล้านบาทของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นทุนผูกขาดรายใหญ่เพียง 2 รายมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับฝ่ายการเมืองและชนชั้นนำ  16 ปีของกฎหมายฉบับนี้จึงต้องต่อสู้กับผลประโยชน์ กลยุทธ์ทางการตลาดที่แยบยล การบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มข้น  ทำให้อัตราการดื่มเฉลี่ยของประชากรไทยลดลงเพียง 2 %  ส่วนประชากรในกลุ่มวัยรุ่นคือกลุ่มเดียวที่ยังเป็นปัญหา อัตราการดื่มทรงตัว ปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปียังอยู่ที่ 7 ลิตร หากไม่มีกฎหมายควบคุมเชื่อว่าจะพุ่งสูงถึง 10 ลิตรต่อคนต่อปี

ผู้ประสานงานครปอ.กล่าวต่อว่าสิ่งที่น่ากังวลมากๆคือมุมมองทางนโยบายของภาครัฐ  ที่เชื่อว่าการให้ ค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เสรีมากขึ้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับภาครัฐมากขึ้น นำมาซึ่งนโยบายการขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 ใน 5 พื้นที่นำร่อง  รวมไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีเป้าหมายเพื่อลดทอนการควบคุมลง  สวนทางกับงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศซึ่งชี้ชัดว่ารายได้ทุก 1 บาทที่เราได้มาจากแอลกอฮอล์ ประเทศจะสูญเสียไปถึง 2-2.5 บาท ในทุกมิติ ดังนั้นความสมดุลในมิติสุขภาพกับเศรษฐกิจจึงทดแทนกันไม่ได้เลยเรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย  และที่สำคัญปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งด้านสุขภาพและสังคม  จะทำลายนโยบายด้านสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกทีของรัฐบาลและในท้ายที่สุดระบบสาธารณสุขไม่อาจรับมือได้อีกต่อไป