One Belt One Road กับการเดินหน้าของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT)

1296

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน  จัดงานสัมมนา One Belt One Road กับการเดินหน้าของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT) ณ ห้อง LA107 ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  โดยมี รศ.เกศินี  วิฑูรชาติ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน  รศ.ดร.ชยันต์  ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และคุณชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เป็นผู้กล่าวรายงาน

5 ปีมูลค่าการค้าพุ่ง 70%

ในการจัดงาน คุณหยาง หยาง  ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารสนเทศสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “One Belt One Road กับโอกาสของประเทศในกลุ่ม CLMVT” โดยได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของ One Belt One Road ว่าในปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วม 103 ประเทศ มูลค่าการค้าขายที่เกิดขึ้นมีกว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  และมีการลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ  โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยหัวใจหลักของยุทธศาสตร์นี้ คือ การเติบโตร่วมกันของทุกประเทศ  ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการที่ทุกประเทศเข้าใจแนวคิดของ One Belt One Road ว่าเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันทั้งทางบกและทางทะเล  เพื่อผลประโชน์ร่วมกันทางด้านการค้า การลงทุน และการเชื่อประสานกันของระบบการเงิน  สำหรับการเติบโตของ CLMVT นั้น  ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นคู่ค้าหลักโดยมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2555 เป็น 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 70%  ประเทศจีนมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประเทศใน CLMVT ให้เติบโตไปพร้อมกับการเติบโตของประเทศจีน ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการค้าและการลงทุน เช่น การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ  การลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  การพัฒนาธุรกิจ E-Commerce การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการใช้ Big Data และ Cloud การผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันทางศุลกากร  โดยประเทศจีนหวังว่าประเทศในกลุ่ม CLMVT และประเทศบนเส้นทาง One Belt One Road มีความเข้าใจหลักการของ One Belt One Road แล้วจะนำไปสู่การผลักดันนโยบายนี้ร่วมกันให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง

เปลี่ยนค้าชายแดนเป็นค้าข้ามแดน

ในช่วงการเสวนา  ศ.ดร.สกนธ์  วรัญญูวัฒนา  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงนโยบาย One Belt One Road ว่า CLVM มีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะมีมูลค่าการค้าขายประมาณ 11% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย  และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 7-8% ต่อปี ด้วยทิศทางเช่นนี้  ประกอบกับนโยบาย One Belt One Road การค้าของไทยกับประเทศจีนและประเทศในกลุ่ม CLMV จะเปลี่ยนจากการค้าชายแดนไปเป็นการค้าข้ามพรมแดน ความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินจะเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงสองด้าน  ด้านแรกเกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศ CLMV จะทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศจีนได้ง่ายขึ้น ด้านที่สองเป็นการเชื่อมโยงผ่าน E-Commerce  ดังนั้น  ประเทศไทยจำเป็นจะต้องยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานระดับสากล  เพื่อให้สามารถค้าขายได้  และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทย

ไทยทำเลทองของ CLMVT

คุณสวี  เกินโหลว  กรรมการผู้จัดการใหญ่นิคมอุตสาหกรรมระยองไทยจีน  กล่าวถึงเหตุผลที่นักธุรกิจจีนให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ  มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง  และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดี  เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของ CLMVT อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยต้องการจะได้รับประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road ก็ควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมให้มีความพร้อม  สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ได้  สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการที่คนจีนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยนั้น  ส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมในการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน  ที่ผ่านมาประเทศจีนเองได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์จากประเทศไทยหลายเรื่อง  เช่น  การนำแนวคิดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย  ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับประเทศจีนได้  ประเทศไทยเองก็สามารถเรียนรู้จากประเทศจีนได้ในหลายเรื่อง เช่น การแพทย์แผนจีน  หรือการพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

สร้างเศรษฐกิจเชื่อมโยงทั่วภูมิภาค

คุณเชาวลิต  เอกบุตร  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท SCG ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสในการทำธุรกิจใน CLMV ว่าประเทศเหล่านี้ยังมีศักยภาพสูงและอยู่ใกล้กับประเทศไทย  เป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยที่จะเข้าไปทำธุรกิจได้  สำหรับ SCG นั้น ก่อนจะไปลงทุนในประเทศไหน  ต้องเข้าใจตลาดนั้นให้ดีทั้งในแง่ของกำลังซื้อ รสนิยม วัฒนธรรมในการทำธุรกิจ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง  ควบคู่ไปกับการหาพันธมิตรในพื้นที่เพื่อช่วยในการดำเนินการ  โดยจะเน้นการจ้างงานคนในประเทศนั้นเป็นหลัก และมีตัวแทนจากประเทศไทยไปร่วมบริหารและดำเนินการเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  หลักการเหล่านี้ช่วยให้ SCG สามารถทำธุรกิจต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว สำหรับนโยบาย One Belt One Road นั้น  เป็นสิ่งที่ประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้  ภาครัฐ  ภาคธุรกิจ และประชาชนไทย  จึงควรทำความเข้าใจกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ดี  เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่

สร้างโอกาสใหม่ด้วยการเรียนรู้กันและกัน

ดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ กรุงเทพฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า หลักการสำคัญที่จะช่วยให้ไทยได้ร้บประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road ได้อย่างเต็มที่คือ การแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง  เพราะนโยบายนี้จะกลายเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ การที่นักธุรกิจชาวจีนที่มาลงทุนในประเทศไทยก็เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่  นักธุรกิจจีนต้องทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมไทย  จะได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมไทยได้  เพราะนักธุรกิจจีนก็ถือเป็นทูตสันติภาพของจีนเช่นกัน  สำหรับแนวทางในการพัฒนากำลังคนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถได้ประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road ควรเริ่มจากการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของจีนให้เข้าใจ  ควบคู่ไปกับการมีหลักสูตรร่วมกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  ในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนา  เช่น  สาขาวิศวกรรม  สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นต้น

โดยในการเสวนาครั้งนี้มี  ดร.เกียรติอนันต์  ล้วนแก้ว  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา