คปภ. ผงาดเวทีภูมิภาคเอเชีย โชว์วิสัยทัศน์ผ่านงาน AFIR

334

คปภ. ผงาดในเวทีภูมิภาคเอเชีย เข้าร่วมประชุมพร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมนายทะเบียนประกันภัยเอเชีย (AFIR) ครั้งที่ 17 การประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 6 และการประชุมผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 5 ประจำปี 2565 ณ สาธารณรัฐมัลดีฟส์

เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) และคณะผู้บริหารระดับสูง สำนักงาน คปภ. เข้าร่วมการประชุมนายทะเบียนประกันภัยเอเชียครั้งที่ 17 (AFIR 17th Annual Conference: AMC) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การประชุมสามัญประจำปี AFIR ครั้งที่ 6 ประจำปี 2565 (6th General Meeting of Members) และการประชุมผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 5 (5th Asia-Pacific High-Level Meeting on Insurance Supervision : HLM) ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 5 – 7 กันยายน 2565 ณ สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ภายใต้ธีม “Strengthening Resilience to Insurance Supervision for Evolving and Emerging Risks”

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า การประชุมนายทะเบียนประกันภัยเอเชียและการประชุมที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้กลับมาจัดการประชุมในลักษณะ In-Person เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสาธารณรัฐมัลดีฟส์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วยหัวหน้าหรือผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน และ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (International Association of Insurance Supervisors : IAIS) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank of International Settlements : BIS) เป็นต้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 32 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในเอเชีย หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น และประสบการณ์ระหว่างกันในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ และส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์การกำกับดูแลภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแบบองค์รวม

โดยการประชุมฯ แบ่งออกเป็น 3 การประชุมย่อย ประกอบด้วย การประชุมนายทะเบียนประกันภัยเอเชีย ครั้งที่ 17 ในวันที่ 5 -6 กันยายน 2565 ซึ่งมีวาระการประชุมฯ ที่สำคัญประกอบด้วยหัวข้อ “ความสัมพันธ์และส่งเสริมทางธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และจุดบอดเชิงนโยบายที่พึงระวัง” โดยรวบรวมข้อมูลของบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลกเพื่อศึกษาถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนความเสี่ยงและแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสม การใช้ประโยชน์จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีในภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงจุดโหว่เชิงนโยบายที่ผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยพึงระวัง โดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มักมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่คล้ายกัน มีการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีทั้งกลุ่มผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการหรือเจ้าของสินค้าและบริการ ธนาคารหรือผู้ให้บริการ e-Payment รวมไปถึงบริษัท IT ที่มีส่วนร่วมในการสร้างแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งรูปแบบธุรกิจนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์และส่งเสริมกัน (Interdependencies) ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้น โดยเฉพาะในด้านการกำกับดูแลด้านการเงิน เนื่องจาการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายใน Ecosystem เดียวกันอาจทำให้ขาดความโปร่งใส และทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ไม่สามารถประเมินรูปแบบและระดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

ซึ่งในประเด็นข้างต้นเลขาธิการ คปภ. ได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นปัญหาดังกล่าวว่าหน่วยงานกำกับดูแลควรมีการบูรณาการความร่วมมือกันในทั้งรูปแบบ Cross-Sectoral และ Cross-Border โดยควรมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริม (Facilitator) และในเชิง principle-based แทนที่จะพยายามกำกับดูแลแบบ rule-based อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำได้ยาก เนื่องจากการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถตามทันพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดได้

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. โดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนามาตรฐานการกำกับ ได้นำเสนอประเด็น “การรับมือต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ผ่านโครงการจัดทำกรอบการประเมินระดับความพร้อมด้านการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับบริษัทประกันภัย (Cyber Resilience Assessment Framework : CRAF)” ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่สำนักงาน คปภ. จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับการดำเนินการเรื่อง Cybersecurity ของภาคธุรกิจประกันภัยและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้มีความรัดกุมและแข็งแกร่งมากขึ้นโดยพิจารณาจากพื้นฐานสำคัญ คือ การที่บริษัทเข้าใจและรับรู้ความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจและการใช้งานเทคโนโลยี รวมทั้งสามารถกำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้าน IT Risk และ Cyber Risk ได้อย่างเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงและมีประสิทธิภาพ  โดยสำนักงาน คปภ. มี โครงการ CRAF ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำหนดมาตรฐานทั้งในด้านการประเมินความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ สำหรับธุรกิจประกันภัย รวมทั้งบริษัทสามารถนำไปใช้ในการประเมินความเสี่ยงของตนเองที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ และการใช้งานเทคโนโลยี (Cyber Inherent Risk) และประเมินความเพียงพอของระดับแนวทางในการบริหารจัดการและการควบคุม (Control Maturity Level) เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการและการควบคุมให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเสี่ยง

ทั้งนี้ประเทศไทย เป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่มีการจัดทำมาตรฐานในด้านการประเมินความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ที่ประชุมจึงให้ความสนใจในโครงการ CRAF เป็นอย่างมาก ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้หารือที่ประชุมถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดและขยายผลความร่วมมือจากโครงการฯ ในระดับภูมิภาค หรือ Regional Platform เพี่อแลกเปลี่ยนข้อมูล Incidents ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค อันจะทำให้การวางแผนรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อภิปรายกันในประเด็นเกี่ยวกับ การดำเนินการด้านต่าง ๆ ของสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (IAIS) ซึ่งมีการนำเสนอโดย Ms. Manuela Zweimueller, Head of Implementation (IAIS) ตลอดจนประเด็นเรื่องการศึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงในสาธารณรัฐมัลดีฟส์ โดย Mr. Faraz Amjad, Natural Capital Risk & Resilience Lead, United Nations Development Programme (UNDP) และข้อแนะนำของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ โดย Mr. Yoshihiro Kawai, Chair, OECD, Insurance and Private Pensions Committee และภาพรวมและโอกาสในการมีส่วนร่วมใน Global Asia Insurance Partnership (GAIP) โดย Mr. Conor Donaldson, Chief Executive Officer, GAIP ซึ่งเลขาธิการ คปภ. ได้ให้แสดงข้อคิดเห็นว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็น Affiliated Partner ตั้งแต่ปี 2563 ในขณะที่ ยังมีอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ยังมิได้เข้าร่วมในกรอบความร่วมมือดังกล่าว

ซึ่งการเข้ามามีส่วนร่วมจะก่อให้เกิดการพัฒนา และแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นในการเสริมสร้างความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีนัยยะต่อระบบประกันภัยของภูมิภาคเอเชีย จึงเสนอให้มีการจัดทำแบบสอบถามความสนใจ เพื่อให้แต่ละประเทศได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่อยากให้มีการเพิ่มเติมเข้ามาใน GAIP เช่น การให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนในการประกันภัย และการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล เป็นต้น                                                          

สำหรับการประชุมสามัญประจำปี AFIR ครั้งที่ 6 ในวันที่ 6 กันยายน 2565 มีวาระการประชุมฯ ที่สำคัญประกอบด้วยการให้ความเห็นชอบแนวทางการคัดเลือกประธาน AFIR โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ Mr. Clemeng Cheung CEO ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของฮ่องกง ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน AFIR ต่อเนื่องจนถึงปี 2566 และเห็นชอบแนวทางการจัดตั้ง Contingency Committee สำหรับการคัดเลือกประธาน AFIR รวมถึงการกำหนดแผนการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานสมาชิก AFIR และการหารือเรื่องเจ้าภาพการจัดการประชุมประจำปี AFIR และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ประจำปี 2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประเทศมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมฯ ในปีถัดไป

ในส่วนการประชุมผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 5 ในวันที่ 7 กันยายน 2565 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ AFIR FSI BIS และ IAIS มีการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจหลายหัวข้อ อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย” โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในประเทศยูเครน และประเด็นความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินโลก ราคาพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงอาหารที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางทั่วโลกมีการยกระดับมาตรการต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อภาคประกันภัยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งในด้านผลตอบแทนการลงทุน ไปจนถึงการประเมินมูลค่าหนี้สิน ซึ่งการเสวนาฯ มุ่งเน้นการค้นหาความเชื่อมโยงของเครือข่ายความเสี่ยง รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย โดยเลขาธิการ คปภ. ได้เสนอให้ต้องบริหารความเสี่ยงในเรื่อง cyber attack ด้วย เพราะปัจจุบันมีการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอย่างมาก และการเกิดความขัดแย้งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในภูมิภาคใด ๆ ในโลก ก็ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประกันภัยสีเขียวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป” โดยได้กล่าวถึงการที่หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจากทั่วโลกมีการยกระดับกรอบการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่อระบบการเงินอันเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีความพร้อมที่แตกต่างกัน ตลอดจนปัจจุบันยังไม่มีแนวปฏิบัติสากล ดังนั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาฯ จึงมีการหารือถึงทิศทางการดำเนินการเพื่อรับมือต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลกระทบต่อภาคประกันภัยทั้งบริษัทและหน่วยงานกำกับดูแล นอกจากนั้นยังจะมีการแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องแนวทางในการผนวกความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเข้ากับกรอบการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ซึ่งรวมถึงการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ                                                           

ส่วนการเสวนาในหัวข้อ “การอำนวยความสะดวกในการปรับตัวสู่ net-zero” ได้กล่าวถึงเรื่องที่บริษัทประกันภัยมีการเร่งปรับตัวสู่การเป็น net-zero ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การปรับทางเลือกในการลงทุนของบริษัทจนถึงการปรับแนวทางในการทำสัญญาประกันภัย ซึ่งจะส่งกระทบต่อ risk profile ของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในประเด็นดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ ได้ร่วมกันอภิปรายถึงความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นต่อสถานะความมั่นคงของบริษัทในขณะอยู่ระหว่างการดำเนินแผนการปรับตัวสู่การเป็น net-zero ซึ่งรวมถึงแนวทางการกำกับดูแลแผนการปรับตัวดังกล่าวและการระบุความเสี่ยงอุบัติใหม่ นอกจากมุมมองด้านความเสี่ยง ผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาถึงบทบาทของผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในการให้ความสนับสนุนการปรับตัวสู่การเป็น net-zero ที่อาจรวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง            

“การประชุมนายทะเบียนประกันภัยเอเชียในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีประเด็นร่วมสมัยหลายประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยมีโอกาสแสดงศักยภาพในเรื่องการพัฒนาเครื่องมือ CRAF การทดสอบความพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนได้หารือกับ นาย Jonathan Dixon เลขาธิการ IAIS ถึงความเป็นไปได้ที่สำนักงาน คปภ. ของไทยจะเข้าไปมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ ที่สามารถจะนำไปต่อยอดเพื่อผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการประชุมนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน (ASEAN Insurance Regulators’ Meeting: AIRM) ในเดือนธันวาคม 2565 ที่ประเทศไทย โดยสำนักงาน คปภ. จะเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพในการประชุม”