สนค. ชี้การห้ามนำเข้าปลาจากญี่ปุ่น หนุนโอกาสการส่งออกอาหารทะเลทดแทน

269

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ในกรณีที่กรมศุลกากรจีนระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเล (รวมถึงสัตว์ทะเลสด) จากญี่ปุ่น ตั้งแต่ 24 ส.ค. 66 เนื่องจากมีความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาหารทะเลอาจปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ทำการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซึ่งผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เช่นเดียวกับรัฐบาลฮ่องกงที่มีคำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากหลายจังหวัดของญี่ปุ่น อาทิ ฟูกูชิมะ โตเกียว ชิบะ โทชิกิ อิบารากิ กุนมะ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะ โดยสินค้าที่ถูกห้ามนำเข้า เช่น อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง หรือผ่านกรรมวิธีถนอมอาหารอื่น ๆ รวมถึงเกลือทะเลและสาหร่าย เป็นต้น อย่างไรก็ตามทางการญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลมีความปลอดภัย โดยได้รับการรับรองจากองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ

การใช้มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นค่อนข้างมาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าประมง (HS 03) เป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 26.9 (7 เดือนแรกของปี 2566) การกระจายตัวของแหล่งนำเข้าที่สูงทำให้จีนมีแหล่งนำเข้าทางเลือกที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนไปแหล่งนำเข้าอื่น ๆ เมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้น อาทิ เอลกวาดอร์ รัสเซีย แคนาดา อินเดีย สหรัฐฯ นอร์เวย์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เปรู ชิลี นิวซีแลนด์ และไทย ฯลฯ การใช้มาตรการดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อจีน สำหรับอาหารทะเลที่จีนนิยมนำเข้าจากญี่ปุ่น ได้แก่ หอยเชลล์ ทูน่า เม่นทะเล ปลากะพง และปลิงทะเล เป็นต้น ในขณะที่ปลาแปรรูป (HS 1604) แหล่งนำเข้าของจีนค่อนข้างกระจุกตัวที่เกาหลีใต้และไทย สัดส่วน ร้อยละ 39.7 และ 34.1 ตามลำดับ โดยญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 11.1 เท่านั้น  

จากสถานการณ์ที่จีนประกาศระงับการนำเข้าปลาจากญี่ปุ่นเพราะกลัวการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี ส่งผลให้ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารทะเลและได้รับส่วนแบ่งในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยส่วนแบ่งทางการตลาดที่หายไปจากการส่งออกของญี่ปุ่น สินค้าประมงที่อาจจะได้รับอานิสงค์ส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น อาทิ ปลาหมึกและหอยสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็ง ปลาปรุงแต่งและแปรรูป เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนในสัดส่วนที่มากอยู่แล้ว และการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ดีของไทยจะทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไปยังตลาดจีนได้ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าประมงไปยังจีนแล้วกว่า 221.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ 45.5%) ในขณะที่การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปไปยังจีน อยู่ที่ 31.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+48.7%)

ผลกระทบต่อไทยในแง่ของการนำเข้า ไทยนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่นในสัดส่วนไม่มาก จากข้อมูลการนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์จะพบว่า ใน 7 เดือนแรกของปี 2566 ไทยนำเข้าสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็งแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูปจากญี่ปุ่น มูลค่า 94.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ 63,951 ตัน เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วน 5.3% รองจาก อินเดีย ไต้หวัน และจีน และตอนนี้ไม่มีมาตรการห้ามการนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่น ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยกระดับติดตามเฝ้าระวังอาหารทะเลก่อนเข้ามาแปรรูปในประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งหากพบการปนเปื้อนภาครัฐจะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลาย และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบทันที

ทั้งนี้ เมื่อลงลึกไปในรายสินค้าไทยนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่น อาทิ กลุ่มปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ปลาค็อด ปลาแมคเคอเรล นำเข้ามูลค่า 21.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (-24.8%) เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 รองจาก ชิลี นอร์เวย์ และจีน กลุ่มปลาทูน่า นำเข้ามูลค่า 22.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+29.5%) เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 10 กลุ่มสัตว์น้ำอื่น ๆ และผลิตภัณฑ์ (อาทิ เนื้อปลาซาร์ดีนแช่เย็นจนแข็ง เนื้อปลาแมคเคอเรลแช่เย็นจนแข็ง ปลาแซลมอนแปซิฟิกอื่น ๆ แช่เย็นจนแข็ง เนื้อปลาทูน่าครีบยาวแช่เย็นจนแข็ง ปลาหมึกกระดองแช่เย็นจนแข็ง ฯลฯ) นำเข้ามูลค่า 46.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (-32.0%) เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 รองจากอินเดีย และเวียดนาม

นายพูนพงษ์ฯ กล่าวปิดท้ายว่า การส่งออกสินค้าประมงของไทยดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสุขอนามัย ทำให้มั่นใจได้ว่ามีคุณภาพ ปลอดภัย และเชื่อถือได้ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำจะเข้าสู่ตลาดจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าประมงเป็นอันดับ 2 ของโลกได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความกังวลต่อการนำเข้าปลาจากญี่ปุ่นจะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้เพาะเลี้ยงปลาแซลมอนและปลาเทราต์ภายในประเทศได้เช่นกัน