ธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2566 : เบี้ยรับฟื้นตัว แต่แรงสะเทือนจากการรับประกันโควิด 19 ยังเป็นโจทย์ที่รอจัดการ

392

ปี 2566 ธุรกิจประกันวินาศภัยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ตามปัจจัยบวกจากการรับประกันภัยรถที่มีสัดส่วนเบี้ยสูง

แรงสะเทือนจากการรับประกันโควิด 19 ยังไม่สิ้นสุด แม้ว่ากรมธรรม์เจอจ่ายจบสิ้นสุดลงพร้อมด้วยการปิดตัวลงของบริษัทประกันภัย 4 แห่ง และอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ 1 แห่ง เนื่องจากยังมีภาระหนี้สินต่อผู้เอาประกันที่ค้างจ่ายอีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาระผูกพันที่ส่งต่อให้กับกองทุนประกันวินาศภัยและคงต้องใช้เวลาในการดูดซับความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นบทเรียนสำหรับการรับประกันความเสี่ยงใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและมีกรอบกติกาที่รัดกุม

ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 จากมิติของเบี้ยประกันภัยรับตรง มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาลดลง ทั้งจากจำนวนบริษัทประกันลดลง และต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการเอาประกันภัยต่อที่สูงขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เบี้ยรับรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 จะเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 4-5%

ประเภทการประกันภัย25622563256425652566f
1. การประกันอัคคีภัย10,11810,16710,3559,86810,000
% เปลี่ยนแปลง-0.330.491.84-4.701.0-1.5
2. การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง5,4695,2896,3177,0026,500-6,800
% เปลี่ยนแปลง-0.88-3.2819.4310.83(-3.0)-(-7.0)
3. การประกันภัยรถ144,025146,017147,406154,886165,500-166,500
% เปลี่ยนแปลง5.691.380.955.076.8-7.5
4. การประกันภัยเบ็ดเตล็ด84,44391,14498,717102,461103,000-104,700
% เปลี่ยนแปลง5.327.948.313.790.5-2.0
รวมการรับประกันภัยทุกประเภท244,055252,618262,795274,216285,000-288,000
% เปลี่ยนแปลง5.153.514.034.354.0-5.0
ที่มา: สำนักงาน คปภ.     
รวบรวมและคาดการณ์: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย     

เบี้ยรับที่เป็นตัวนำในการสนับสนุนการเติบโตของภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยในปีนี้ มาจากการรับประกันภัยรถเป็นหลัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเบี้ยรับตรงจากการรับประกันภัยรถในปีนี้จะขยายตัวจากปีก่อนที่ 6.8-7.5% ตามผลบวกด้านยอดขายรถยนต์ใหม่ การท่องเที่ยว และการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีผลของอัตราเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นตามการแข่งขันที่ลดลง ต้นทุนการรับประกันที่สูงขึ้นตามอัตราการทำประกันภัยต่อ รวมถึงประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอัตราเบี้ยประกันเฉลี่ยสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปในประเภทเดียวกันประมาณ 20% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสะท้อนจากตลาดที่ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งในมุมปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังอยู่ในหลักหมื่นคัน (เทียบกับจำนวนการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจที่มีกว่า 11 ล้านคันต่อปี) และข้อมูลสถิติการเคลมสินไหมยังไม่ชัดเจน รวมทั้งมีประเด็นเรื่องความเสียหายของแบตเตอรี่จากอุบัติเหตุทั่วไปที่อาจถึงขั้นคืนทุน ประกอบกับจำนวนผู้ให้บริการที่ยังมีน้อย อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีนี้คงมีความชัดเจนในเรื่องอัตราเบี้ยประกันและเงื่อนไขเฉพาะของการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่ออกสู่ตลาดและผู้ให้บริการประกันที่เพิ่มขึ้น น่าจะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามีความเหมาะสมและสามารถสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ดีขึ้น

สำหรับแรงดึงรั้งภาพรวมธุรกิจในปีนี้ มาจากการรับประกันภัยทางทะเลและขนส่งที่รับผลกระทบจากทิศทางการส่งออกที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยด้านฐานที่สูง การประกันภัยสุขภาพที่บริษัทประกันต้องใช้ความรอบคอบในการรับประกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัญญาสุขภาพมาตรฐานใหม่มีเงื่อนไขไม่ให้ยกเลิกการต่ออายุกรมธรรม์ของลูกค้า ท่ามกลางความเสี่ยงที่สูงขึ้นทั้งจากวัย โรคภัย และค่าบริการทางสาธารณสุข 

ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดจากการรับประกันภัยโควิด 19 ในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งมีค่าสินไหมทดแทนสูงเป็นอันดับ 2 ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท รองจากเหตุมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่มีค่าสินไหมกว่า 4 แสนล้านบาท อันเป็นอีกบทเรียนสำคัญที่กระตุ้นเตือนภาคธุรกิจประกันภัยและหน่วยงานผู้กำกับดูแล ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการแข่งขันเพื่อช่วงชิงช่องว่างทางการตลาด ในการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ที่ไม่มีฐานข้อมูลสถิติรองรับเพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่มีขนาดทุนและสินทรัพย์ต่ำ ซึ่งแบบประกันโควิด 19 ประเภทเจอจ่ายจบ เป็นภาพสะท้อนการดำเนินงานที่ก่อความเสี่ยงเชิงระบบ รวมทั้งบ่งชี้ให้เห็นจุดเปราะบางของการรับประกันภัยและการกำกับดูแล

อัตราการเคลมสินไหมจากการรับประกันภัยโควิด 19 ที่สูงกว่าเบี้ยประกันภัยรับไม่น้อยกว่า 5 เท่าตัว ทำให้บริษัทประกันภัยปิดตัวลง 4 แห่ง และอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ 1 แห่ง ขณะที่กองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งมีเงินกองทุนสะสม ณ สิ้นปี 2564 จำนวน 6,178 ล้านบาท ต้องตกอยู่ในสถานะหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ เนื่องจากยังติดค้างการชำระบัญชีแก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ณ สิ้นปี 2565 อีกกว่า 6.7 แสนคำขอ คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 5.45 หมื่นล้านบาท โดยรายรับหลักของกองทุนที่มาจากเงินนำส่งของบริษัทประกันภัยต่อปีมีจำนวนเพียงหลักพันล้านบาท (อัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันวินาศภัยตามกฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 0.5% ของเบี้ยประกันภัยรับ) ดังนั้น กองทุนประกันวินาศภัยคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยในการฟื้นตัวเพื่อรักษาความสามารถเสมือนเป็นหลักประกันหรือกันชนให้แก่ภาคประกันวินาศภัยและผู้เอาประกันภัย

สัดส่วนเบี้ยประกันภัยและ Loss Ratio (%)

ประเภทการรับประกันภัย2562256325642565
1. การประกันอัคคีภัย4.154.023.943.60
Loss Ratio16.0818.6623.6325.41
2. การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง2.242.092.402.55
Loss Ratio34.8340.7937.6835.65
3. การประกันภัยรถ59.0157.8056.0956.48
Loss Ratio66.0863.2056.7357.86
4. การประกันภัยเบ็ดเตล็ด34.6036.0837.5637.37
Loss Ratio43.5441.26102.71180.49
4.1 การประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดและทรัพย์สิน9.9410.5611.0812.10
Loss Ratio44.2048.9135.7938.86
4.2 การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย1.101.111.151.36
Loss Ratio22.1251.5330.2633.27
4.3 การประกันภัยอุบัติเหตุ12.5512.2511.8911.44
Loss Ratio38.4137.3389.2945.86
4.4 การประกันภัยสุขภาพ4.506.197.135.77
Loss Ratio59.4246.01182.10523.48
4.5 การประกันภัยการเดินทาง0.920.340.430.83
Loss Ratio23.3923.4719.6541.33
4.6 การประกันภัยอิสรภาพ0.070.060.060.04
Loss Ratio45.1743.8743.1927.80
4.7 การประกันภัยอื่น5.505.575.825.84
Loss Ratio40.6236.6234.9847.81
รวมเบี้ยประกันภัยรับตรงทุกประเภท244,055252,618262,795274,216
Loss Ratio57.7955.4067.4088.51
ที่มา: สำนักงาน คปภ.
รวบรวมโดย: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สำหรับอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบในช่วงปี 2563-2565 จากฐานข้อมูลสมาคมประกันวินาศภัย ณ 26 ธันวาคม 2565 พบว่า ยังคงรักษาระดับค่าเฉลี่ยไว้ได้ที่ระดับประมาณ 440% อย่างไรก็ดี จากบทเรียนของการรับประกันโควิด 19 สะท้อนว่าไม่อาจพึ่งพิงระดับเงินกองทุนที่สูงได้โดยลำพัง แต่จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการเปิดรับความเสี่ยงอย่างรัดกุม โดยสถานะเงินกองทุนของบริษัทสามารถพลิกกลับจากระดับเงินกองทุนสูงกว่า 400% เป็นติดลบ 400% ได้ภายในปีเดียว

กล่าวโดยสรุป แนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยมีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในมิติด้านเบี้ยประกันภัย ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากความเข้าใจและความตื่นตัวระดับปัจเจกบุคคลที่เห็นความสำคัญของการทำประกันภัยเพื่อบรรเทาความเสี่ยง ขณะที่ความสามารถในการเป็นหลักประกันที่ดีที่เชื่อถือได้ของบริษัทประกันภัย ควรเป็นประเด็นที่นำเสนอเพื่อสร้างการตระหนักรู้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่กับความมั่นคงของบริษัท

ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามบทบาทของผู้กำกับดูแลภาคธุรกิจประกันภัย ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาแหล่งเงินทุนและเงินกู้ยืมให้แก่กองทุนประกันวินาศภัย เพื่อให้สามารถจ่ายเงินสินไหมให้แก่ผู้เอาประกันภัยโควิด 19 แทนบริษัทประกันภัยที่ล้มละลายและปิดกิจการไป นอกจากนี้ ยังต้องติดตามกรอบมาตรการที่เกี่ยวข้องในการให้ความเห็นชอบแบบประกันภัยใหม่ ๆ ให้อยู่ภายใต้การประเมินความเสี่ยงที่รอบคอบและคำนึงถึงความสามารถในการรับประกันภัยของแต่ละบริษัท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในระยะยาวและร่วมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการรับประกันภัย อันเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งต่อผู้เอาประกันและความยั่งยืนของบริษัทประกันภัย