เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2568 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เข้าร่วมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “บทบาทของการประกันสุขภาพเอกชนในการส่งเสริมความยั่งยืนของระบบสังคมและสุขภาพในประเทศไทย” จัดโดยสถาบันมหิตลาธิเบศรและสถาบันพระปกเกล้า ณ ห้องประชุมวชิรเวช ชั้น 14 อาคารมหิตลาธิเบศร แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา และมีนายแพทย์ภาสกร วันชัยจิระบุญ เป็นผู้ดำเนินรายการ
เลขาธิการ คปภ. ได้ให้ข้อมูลภาพรวมและแนวโน้มของการประกันภัยสุขภาพในประเทศไทย มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้โดยไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้ยังมีระบบประกันสังคมสำหรับพนักงานบริษัท และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งทั้ง 3 ระบบนี้ทำให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพอย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการแพร่ระบาดของโรคใหม่ ซึ่งส่งผลให้ระบบการประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจมีบทบาทสำคัญในการช่วยประชาชนเข้าถึงบริการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่าเบี้ยประกันภัยสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความต้องการสุขภาพเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากค่าใช้จ่ายสุขภาพสูงขึ้น มีความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่ม ลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วย และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี จึงส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการในการทำประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีดำเนินการเพื่อควบคุมค่าเบี้ยประกันภัยสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ ได้แก่ การพัฒนา “มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่ หรือ New Health Standard” ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ที่ได้กำหนดให้บริษัทประกันภัยสามารถบริหารความเสี่ยง
โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญา โดยเฉพาะกรณีการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เกินความจำเป็นทางการแพทย์ด้วย โรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Disease) ซึ่งจะช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น แม้ว่าการเพิ่มความคุ้มครองและการรับประกันในปีถัดไปจะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม อีกทั้งสำนักงาน คปภ. ยังสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุน เช่น การสนับสนุนการรักษาผ่านระบบ Telemedicine หรือนำเทคโนโลยี AI และ Big Data ช่วยประเมินความเสี่ยงและตรวจจับการเรียกร้องค่าสินไหมที่ไม่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการกำหนดแผนประกันภัยสุขภาพที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และมีการบริหารความเสี่ยงของการประกันภัยสุขภาพให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และยั่งยืน พร้อมกันนี้สำนักงาน คปภ. ได้อยู่ระหว่างดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางในการประสานสิทธิระหว่างประกันภัยสุขภาพ ภาคสมัครใจ กับสิทธิประกันสุขภาพ 3 ระบบหลักของไทย เพื่อให้มีแนวทางในการบูรณาการระบบประกันภัยสุขภาพ ภาคสมัครใจ ร่วมกับสวัสดิการภาครัฐ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการประกันภัยสุขภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
“สำนักงาน คปภ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมมือทางวิชาการกับทางแพทยสภาสถาบันมหิตลาธิเบศร โดยเริ่มจากงานประชุมวิชาการ “ชวนหมอรู้” เป็นการร่วมมือแรก ในเรื่องบทบาทของการประกันสุขภาพเอกชนในการสงเสริมความยั่งยืนของระบบสังคมและสุขภาพในประเทศไทย เพื่อให้เราได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยควรมีความพร้อมและรับมืออย่างไร นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจประกันภัยในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการประกันภัยสุขภาพ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และสร้างระบบประกันภัยที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย