ครั้งแรกในประเทศไทย ม.มหิดลคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม “ICE – GAME” เกมบอร์ดเพื่อการอนุรักษ์สืบสานภาษาและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในภาวะวิกฤติใกล้สูญหาย
กว่า 2 ทศวรรษแล้วที่โลกได้รู้จักกับ”เกมบอร์ด” ซึ่งได้รับการออกแบบครั้งแรกของโลกโดย Klaus Teuber ชาวเยอรมัน ในปีพ.ศ.2538 โดยต่อมาพบว่าเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญของพ่อแม่ในการที่จะช่วยดึงลูกออกมาจากโลกดิจิทัล สู่การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เพื่อป้องกันลูกไม่ให้ถูกตัดขาดจากโลกแห่งความเป็นจริงด้วยการให้ลูกลองหันมาเล่น “เกมบอร์ด” ซึ่งเป็นเกมที่คอยกระตุ้นให้ผู้เล่นเกิดการ “มีส่วนร่วม” อยู่ตลอดเวลา
และนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้มีการนำเอาจุดเด่นดังกล่าวของ “เกมบอร์ด” มาเสนอด้วย content หรือเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้ชื่อนวัตกรรม “ICE – GAME” (ไอซีอีเกม) หรือ”InterCultural Education Game” สร้างสรรค์โดยทีมวิจัยคุณภาพจาก ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับความสนใจในเวทีโลกสามารถคว้าทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากยุโรป(Pestalozzi Children’s Foundation: PCF) เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรม และส่งเสริมความหลากหลายผ่านการจัดการศึกษาในพื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และเตรียมขยายผลในภูมิภาคอื่น และเชื่อมโยงสู่ประเทศที่มีตระกูลภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันต่อไป
ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ ประธานศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหัวหน้าทีมผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม “ICE – GAME” ว่า เกิดจากการลงพื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของไทยติดอันดับโลก เพื่อศึกษาแนวทางการอนุรักษ์และสืบสานภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ “อูรักลาโวยจ” ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของเกาะลันตา ซึ่งกำลังในอยู่ในภาวะวิกฤติ
ทีมวิจัยฯ ได้สร้างสรรค์โดยนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบสานของกลุ่มชาติพันธุ์ “อูรักลาโวยจ” ร่วมกับวัฒนธรรมไทย จีน มุสลิมในเกาะลันตา มาจัดทำในรูปแบบของ “เกมบอร์ด” โดยทำ “การ์ดเกม” ให้มีเนื้อหาชวนติดตาม เพื่อเป็นกุศโลบายให้ผู้เล่นกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ป.1 – ม.6 ได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อดำเนินตามเกมไปจนจบ ซึ่งนอกจากผู้เล่นจะได้รับความรู้แล้วยังเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินและได้เรียนรู้ถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมเล่นเกมอีกด้วย โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาให้นวัตกรรมดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ก่อนยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา และใช้จริงในปลายปีพ.ศ. 2565
ซึ่งนวัตกรรม “ICE – GAME” สร้างสรรค์ขึ้นโดยตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติข้อที่ 4 ที่ว่าด้วยการศึกษาเท่าเทียม (Quality Education) โดยได้มีการวางแผนพัฒนาแบ่งออกเป็น 5 ระยะ (ICE 1 – 5) ในระยะแรกมุ่งรู้จักตนเอง ก่อนการรู้จักผู้อื่น และนำไปสู่การเรียนรู้สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ โดยไม่เลือกปฏิบัติระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง นำมาสู่การสร้างความเท่าเทียม และเพื่อไปให้ถึงปลายทางแห่งการสร้างสันติภาพได้ในที่สุด
“หากเราสามารถทำให้เยาวชนได้เข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น ก็จะทำให้สังคมเกิดการเคารพซึ่งกันและกันในความแตกต่างหลากหลาย โดยทีมวิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมอบนวัตกรรม “ICE – GAME” เพื่อเป็น “ของขวัญ” แก่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยและนานาชาติในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม เพื่อฟื้นคืนอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมกลับคืนมาในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อมวลมนุษยชาติ จะได้ไม่ต้องสูญเสียภาษาและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเปรียบเหมือนเป็น “สมบัติอันล้ำค่า” ของโลกใบนี้ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบต่อไป” ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้าย
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย : ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล