โซลาร์เซลล์ไทยปรับตัวอย่างไรต่อมาตรการAD/CVD ของสหรัฐ

387

นับแต่ช่วงต้นปี 2566 แรงกดดันต่อข้อกล่าวหาว่า ผู้ผลิตจีนใช้ฐานการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ใน 4 ประเทศอาเซียนรวมถึงไทยเพื่อเลี่ยง AD/CVD มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากความเห็นต่างของรัฐสภาสหรัฐฯ ต่อคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และการเลื่อนประกาศผลไต่สวนขั้นสุดท้ายไปเป็นกลางเดือนสิงหาคม ส่งผลให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เริ่มปรับไปนำเข้าจากแหล่งใหม่อย่าง อินเดีย ขณะที่ผู้ผลิตจีนบางรายในเวียดนามก็เริ่มขยับไปใช้ฐานประกอบในประเทศดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตจีนบางรายในไทยที่เข้าข่ายเลี่ยง AD/CVD อาจจะปรับแผนการผลิตของตนเร็วกว่าที่คาด และส่งผลกดดันการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งจะทำให้มูลค่าส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2566 เติบโตเพียงร้อยละ 30 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตราวร้อยละ 57

การส่งออก แผงโซลาร์เซลล์ ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับต้นของไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดราวร้อยละ 97 ในช่วงไตรมาสแรก 2566 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และผู้นำเข้าสหรัฐฯ เร่งคำสั่งซื้อก่อนผลตัดสินขั้นสุดท้าย ภายใต้สถานการณ์ที่ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังถูกไต่สวนโดยสหรัฐฯ จากกรณีที่มีผู้ผลิตจากจีนบางรายพยายามเลี่ยงมาตรการ AD/CVD ทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกเก็บอากรขาเข้าในอัตราที่สูงเช่นเดียวกับบริษัทที่ตั้งอยู่ในจีน (ร้อยละ 16–254) แม้เบื้องต้นผลกระทบต่อไทยดูเหมือนจะยังคงอยู่ในวงจำกัดภายใต้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ให้ยกเว้นอากรดังกล่าวถึงกลางปี 2567 อย่างไรก็ดี แรงกดดันก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 จากความเห็นต่างของรัฐสภาสหรัฐฯ ต่อคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จนนำมาสู่การผ่านมติให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่ามติดังกล่าวได้ถูกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้สิทธิ์ยับยั้งไปในช่วงกลางเดือนเดียวกัน นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนต่อการวางแผนปรับตัวของผู้ประกอบการทั้งผู้นำเข้าและผู้ผลิตก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ได้เลื่อนการประกาศผลไต่สวนขั้นสุดท้ายจากต้นเดือนพฤษภาคมไปเป็นกลางเดือนสิงหาคม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากแรงกดดันดังกล่าวต่อการเริ่มเปลี่ยนแหล่งนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ และผลกระทบจากการปรับห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตต่อการส่งออกไทย ดังนี้

  • มีความเป็นไปได้ที่ผู้นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ อาจจะเริ่มพิจารณาปรับหรือเพิ่มทางเลือกของแหล่งนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของตนเร็วกว่าที่คาดไว้เดิมว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2567 เพื่อลดความเสี่ยงด้านธุรกิจที่ปัจจุบันยังคงต้องพึ่งพาแหล่งนำเข้าจาก 4 ประเทศที่ถูกไต่สวน (ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา) ในสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 69 ของมูลค่านำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการปรับไปนำเข้าจากแหล่งใหม่อย่างอินเดีย ซึ่งมีผู้ประกอบการหลากหลายทั้งสัญชาติอินเดีย สหรัฐฯ และจีน โดยพบสัญญาณการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 แซงหน้าเกาหลีใต้ขึ้นมาครองส่วนแบ่งการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ เป็นอันดับ 5 และอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับมาเลเซียและกัมพูชา แม้จะมีราคาต่อหน่วยที่สูงกว่าประเทศอาเซียนที่ถูกไต่สวนเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 เพราะผู้ผลิตในอินเดียยังต้องอาศัยการนำเข้าชิ้นส่วนส่วนใหญ่จากจีนและบางส่วนจากอาเซียน แม้การนำเข้าชิ้นส่วนจากอาเซียนจะไม่มีอากรขาเข้าภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย ทว่าอากรขาเข้าจากจีนจะอยู่สูงถึงร้อยละ 25 ทำให้ภาพรวมต้นทุนชิ้นส่วนของอินเดียจะอยู่สูงกว่าประเทศอาเซียนที่ก็ใช้ชิ้นส่วนจากจีน แต่ไม่มีอากรขาเข้าภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ทั้งนี้ สหรัฐฯ พิจารณาการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศที่สามที่ไม่ได้ถูกไต่สวนอย่างอินเดียว่าอยู่นอกข่ายเลี่ยงมาตรการ AD/CVD แม้จะมีการใช้ชิ้นส่วนจากประเทศที่ถูกไต่สวนหรือเกี่ยวเนื่องกับจีน
  • ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จีนบางส่วนโดยเฉพาะที่อยู่ในเวียดนาม และถูกกล่าวหาว่าเลี่ยง AD/CVD ในผลไต่สวนขั้นต้นที่ประกาศช่วงปลายปี 2565 เริ่มขยับไปใช้ฐานประกอบในอินเดียเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ส่งผลกดดันยอดส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ของเวียดนามในไตรมาสหนึ่ง 2566 ให้มีแนวโน้มลดลงจากไตรมาสก่อนราวร้อยละ 11.8 อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ยังไม่พบสัญญาณการปรับห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการจีนในประเทศที่ถูกไต่สวนอื่นรวมถึงไทย ทว่าก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ในระยะข้างหน้าผู้ผลิตจีนบางรายที่เข้าข่ายเลี่ยง AD/CVD อาจทยอยพิจารณาใช้แนวทางเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ
  • ระดับผลกระทบต่อไทย แม้ว่าโดยภาพรวมยังคงต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการยื่นอุทธรณ์ต่อข้อกล่าวหาเลี่ยง AD/CVD ทว่าแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นอาจผลักดันให้ผู้ผลิตจีนบางรายที่เข้าข่ายเลี่ยง AD/CVD ปรับแผนธุรกิจของตนเร็วกว่าที่คาด ปัจจุบัน ผู้ผลิตจีนบางรายที่มีฐานอยู่ในไทยมักมีการลงทุนโรงงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์ในอินเดียเพื่อป้อนตลาดท้องถิ่นอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทำให้การปรับแผนการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ น่าจะทำได้ไม่ยาก และอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดว่าน่าจะเป็นช่วงใกล้การหมดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้า โดยเฉพาะหากคู่ค้าในสหรัฐฯ เริ่มร้องขอให้พิจารณาแนวทางสำรองเพื่อไม่ให้อุปทานขาดตอน ผลสืบเนื่องดังกล่าวอาจส่งผลกดดันการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กรณีดังกล่าว น่าจะส่งผลให้มูลค่าส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2566 เติบโตเพียงร้อยละ 30 คิดเป็นมูลค่า 1,622 ล้านดอลลาร์ฯ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตราวร้อยละ 57 หากผู้ประกอบการเริ่มปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานปีหน้า ทั้งนี้ แม้ทิศทางอัตราการเติบโตจะให้ภาพที่ชะลอลง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากมองว่าสหรัฐฯ ยังมีความต้องการใช้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าในจังหวะที่การลงทุนเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นเองภายในประเทศยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง  
  • สำหรับการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังตลาดโลกในปี 2566 นั้น แม้ว่าสัดส่วนการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปสหรัฐฯ จะคิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปตลาดโลก แต่การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปตลาดอื่นๆ ยกเว้นสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวในปีนี้ตามแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า มูลค่าส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังตลาดโลกในปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,705 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวราวร้อยละ 23 ชะลอตัวจากปี 2565 ที่เติบโตราวร้อยละ 71
  • ทั้งนี้ นอกจากประเด็นการเลี่ยง AD/CVD แล้ว ในระยะข้างหน้า ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ไทยที่พึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก คงต้องเร่งปรับตัวรับมือกับนโยบายพึ่งพาตนเองเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ จากนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนหันมาใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ผ่านกฎหมายจัดการเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ที่ให้สิทธิประโยชน์หลากหลายทั้งการลดหย่อนภาษีและเครดิตเงินคืน รวมถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจจะมีการออกมาตรการทางการค้าที่ทวีความเข้มข้นขึ้นอีกเพื่อลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องกับจีน ถึงแม้ว่าศักยภาพการเติบโตของตลาดพลังงานแสงอาทิตย์สหรัฐฯ จะยังคงมีอยู่สูงก็ตาม โดยจากการประเมินของ EIA พบว่า น่าจะมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดกว่าร้อยละ 38.7 ต่อปี ในระหว่างปี 2566-2568 สวนทางกับความต้องการไฟฟ้าของสหรัฐฯ ที่น่าจะเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.6 ต่อปี ดังนั้น การกระจายตลาดส่งออกและการปรับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยคงต้องเร่งวางแผนเตรียมการ