“สหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย” หรือ FA SME (The Federation of Thai Entrepreneurs Association) เป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการทั่วประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความใกล้ชิด ช่วยเหลือ ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆต่อกัน และเพื่อให้เป็นสถาบันหลักของผู้ประกอบการ SME ที่น่าเชื่อถือ เป็นกระบอกเสียงและประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และทุกหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ
สหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย หรือ FA SME เกิดขึ้นเนื่องจากในปี 2523 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัด โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และพัฒนาผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิมให้เป็นผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ รู้หลักการคิดก่อนการลงทุน สามารถบริหารกิจการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งได้จัดตั้งสมาคมกลางของพี่น้อง คพอ. และผู้ประกอบการ SMEs โดย คุณมนู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น ใช้ชื่อว่า สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (ATSME) โดยคุณมนู ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯคนแรก เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่าย คพอ.ทั่วประเทศเข้าด้วยกัน สร้างสนิทสนม ช่วยเหลือ เผื่อแผ่ ซื้อ-ขาย หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆต่อกัน และเพื่อให้เป็นสถาบันหลักของทั้ง คพอ.และผู้ประกอบการ SMEs ที่น่าเชื่อถือ สามารถเป็นกระบอกเสียงและประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และทุกหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 มีความเห็นชอบร่วมกันหลายฝ่ายให้มีการก่อตั้งสมาคมขึ้นใหม่แทนสมาคม ATSME โดยใช้ชื่อว่า สมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย (ATED) โดยคุณชุติภา โอภาสานนท์ ดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระ และรักษาการจนถึงปี 2564 และเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการประชุมใหญ่สามัญและเลือกตั้งนายกสมาคมฯซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายณัฐพล แสงฟ้า ประธาน คพอ.กรุงเทพฯ รุ่น 298 และ นายกสมาคม BANGKOK BIZ (คพอ.กรุงเทพฯ) ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ วาระปี 2565-2566 และเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ที่ประชุมมีมติเปลี่ยนชื่อและโลโก้ของสมาคมฯ โดยใช้ชื่อว่า สหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย หรือ FA SME
FA SME มีคณะกรรมการและอนุกรรมการเป็นตัวแทนจากหลายจังหวัด จัดตั้งเป็น FA SME ประจำจังหวัด มาร่วมกันบริหารให้เป็นศูนย์กลาง และร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ มีแผนงานที่ดำเนินการไปแล้วมากมาย ทั้งการอบรมส่งเสริมความรู้ให้กับสมาชิก การขยายช่องทางการตลาด การจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ได้จัดงาน “เชื่อมโยง และ Business Matching กรุงเทพฯและภาคกลาง” ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ บางพลัด โดยมี นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการ กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน
ผอ.กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึงงานดังกล่าวว่า เป็นการรวมพลังที่สหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย หรือ FA SME ในส่วนของกรุงเทพฯและภาคกลาง จัดขึ้น เพื่อให้สมาชิกมาแลกเปลี่ยน ได้รู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น ได้มีโอกาสเชื่อมโยงธุรกิจ ซึ่งสินค้าที่นำมาจัดแสดงก็มีความหลากหลาย มีสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนเข้ามาร่วมด้วย ถือเป็นเวทีที่ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ ซึ่งอยากให้มีการจัดเวทีแบบนี้ขึ้นบ่อยๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้มแข็งมากขึ้น เชื่อมโยงให้เกิด Business Matching เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ
“จุดเด่นของ FA SME คือเป็นการรวมตัวของผู้ที่เรียนจบหลักสูตร โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมหลักสูตร คพอ.แล้ว 400 รุ่น จำนวน 13,000 รายทั่วประเทศ ทุกท่านจึงเป็นเหมือนศิษย์เก่า คพอ. มารวมตัวเชื่อมโยงโครงข่ายในการที่จะทำกิจกรรมต่อยอดหลังจากที่ได้พัฒนาตัวเองจากหลักสูตร คพอ. มาแล้ว ก็จะทำได้ง่ายขึ้น มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งในส่วนของกรมฯก็มองในหลายมิติ เช่น มิติการพัฒนาผู้ประกอบการซึ่งก็ทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของมาตรฐาน นวัตกรรม เทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์เมกะเทรนด์ของโลก ให้ผู้ประกอบการรับรู้และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ต่างๆ สร้างความเข้มแข็งให้เกิดศักยภาพ ขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกันคนที่ผ่านหลักสูตรอบรมของกรมฯ เมื่อมารวมตัวกันก็จะเกิดความเชื่อมโยง เกิดการรวมกลุ่ม ทำธุรกิจต่อยอดได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น” ผอ.กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กล่าว
ด้านนายณัฐพล แสงฟ้า นายกสหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย หรือ FA SME กล่าวว่า การจัดงานเชื่อมโยง และ Business Matching กรุงเทพฯและภาคกลาง เพื่อให้ผู้ประกอบการในเครือข่ายของสหพันธ์ฯได้มีโอกาสมาออกบูธแสดงสินค้า แนะนำสินค้าให้กับผู้เข้าร่วมงาน เชื่อมโยงให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้รู้จักกัน ได้ทำ Business Matching จับคู่ธุรกิจกัน ทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในภาวะซบเซาได้มีโอกาสขยายโอกาสทางธุรกิจ มีสถาบันเงินเข้ามาร่วมด้วย เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เรายังมีแผนในปี 2567 จะจัดงานใหญ่คือรวมผู้ประกอบการ FA SME ทั่วประเทศ มีการออกบูธ สัมมนา นำผู้ที่มีประสบการณ์ต่างๆมาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้เขานำเทคนิคต่างๆไปแก้ปัญหาให้ธุรกิจมีความเจริญรุ่งเรือง
“เราต้องการให้สมาชิก FA SME ได้เข้าสู่เครือข่ายที่ยิ่งใหญ่ มีตัวตน สามารถแสดงการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างมี Connection ได้ความรู้จากเพื่อนพ้องน้องพี่ ที่สำคัญมีพี่เลี้ยง มีที่ปรึกษาอย่างมืออาชีพ เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ สหพันธ์สมาคมฯจะช่วยเหลือเรื่องการตลาดออนไลน์ อบรมฟรี สามารถนำไปพัฒนาในธุรกิจของตนเอง เชื่อมต่อกับสถาบันการเงิน จัดกิจกรรมเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ ทั้งระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค รวมถึงระดับประเทศ ดำเนินการจัดหาวิทยากรที่เก่งมาให้ความรู้ เชื่อมให้เกิดการซื้อขาย เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน” นายก FA SME กล่าว
ในช่วงที่ผ่านมา FA SME ได้มีการสำรวจข้อมูลความต้องการของผู้ประกอบการเป็นระยะว่าเดือดร้อนเรื่องอะไร ต้องการให้รัฐส่งเสริมอย่างไร หรือให้ FA SME ช่วยเหลืออะไร เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มากลั่นกรองเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้พบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการอย่างมาคือตลาด เพราะกำลังซื้อหดหาย เมื่อกำลังซื้อหดหายผลิตสินค้าออกมาก็ล้นตลาด ขายไม่ได้ เมื่อขายไม่ได้ก็ไม่มีงบประมาณไปผลิตสินค้า ส่งผลต่อการจัดจ้างคนงาน ผลก็คือรายได้ของประชากรทั้งผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการ หายไปจากระบบ แม้ปัจจุบันศักยภาพของผู้ประกอบการยังมีกำลังการผลิต แต่เมื่อกระบวนการซื้อไม่เกิด ก็ผลิตสินค้าออกมาไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงอยากให้รัฐบาลทำแผนกระตุ้นกำลังซื้อ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินหลายๆรอบ
นายก FA SME ยังกล่าวถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยผลิตโครงการต่างๆ อาทิ การอบรมให้ความรู้ จัดงานอุตสาหกรรมแฟร์เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเราได้มีพื้นที่ในการแสดงสินค้า และอีกหลายอย่างที่เป็นคุณูปการที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทำขึ้น เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองกงล้อเศรษฐกิจของประเทศชาติ