คณะกรรมาธิการยุโรปยื่นข้อเสนอเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยของเล่นเด็กที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป (EU) ต้องแสดง Digital Product Passport สร้างความมั่นใจว่าปลอดสารเคมีอันตราย เตือนผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยเตรียมพร้อมรับมือ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอปรับปรุงกฎระเบียบ Directive 2009/48/EC ว่าด้วยความปลอดภัยของเล่นเด็ก เพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าของเล่นเด็กให้ทันสมัยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ครอบคลุมการปรับปรุงบัญชีและฐานข้อมูลสารเคมี ระบบประเมินความเสี่ยงของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ตลอดจนปรับค่าสารเคมีอันตรายสูงสุดในของเล่นเด็กให้ครอบคลุมสำหรับเด็กทุกวัย เพื่อให้มั่นใจว่าของเล่นเด็กที่วางจำหน่ายใน EU มีความปลอดภัยที่สุดในโลก ปราศจากส่วนผสมของสารเคมีอันตรายที่อาจส่งผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ ระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาทหรือเป็นพิษต่ออวัยวะเฉพาะ โดยของเล่นเด็กทั้งหมดจะต้องมีหนังสือเดินทางดิจิทัลสำหรับผลิตภัณฑ์ (Digital Product Passport) เพื่อแสดงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิต การขาย การใช้งาน สารเคมีต้องห้ามตามกฎระเบียบใหม่ตลอดจนข้อมูลช่วงอายุของผลิตภัณฑ์ การรีไซเคิล การซ่อมแซม การเสื่อมสภาพ หรือหมดอายุการใช้งาน และเสนอให้กฎหมายมีผลใช้บังคับในทุกประเทศสมาชิกเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้ง EU
ปัจจุบัน ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าของเล่นเด็กไปยัง EU ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบความปลอดภัยของเล่นเด็ก เช่น การออกแบบและผลิตของเล่นเด็กให้มีความปลอดภัย การแสดงคำเตือนที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายปรากฏบนของเล่นเด็ก การแสดงเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย CE Mark ตามมาตรฐาน EU การจัดทำและจัดเก็บเอกสารทางเทคนิคของสารเคมีตลอดจนข้อมูลรายชื่อผู้ซื้อหรือผู้รับสินค้าของเล่นเด็กตลอดระยะเวลา 10 ปี การปราศจากส่วนผสมของสารเคมีต้องห้าม อาทิ สารก่อมะเร็ง สารก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม สารพิษต่อระบบสืบพันธุ์ สารที่ก่อให้เกิดการแพ้ และการตรวจประเมินความปลอดภัยของเล่นเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐาน EN-71 (EN = European Norm) Safety of Toys เป็นต้น
นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของไทยการผลิตและจำหน่ายสินค้าของเล่นเด็กจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับและได้อ้างอิงตามมาตรฐานสากล ISO 8124-1: 2018 ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าของเล่นเด็กที่มีความโดดเด่นด้านคุณภาพมาตรฐานของสินค้าและเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ ของเล่นเด็กจึงเป็นสินค้าส่งออกศักยภาพสูงที่มีแนวโน้มเติบโต เห็นได้จากสถิติการส่งออกสินค้าของเล่นเด็กของไทย ในปี 2565 พบว่า ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มของเล่นเด็ก (พิกัดศุลกากร 9503 9504 และ 9505) มีมูลค่ารวม 11,713.47 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.67 จากปีที่ผ่านมา สำหรับปี 2566 ช่วงครึ่งปีแรก(มกราคม – มิถุนายน) มีมูลค่าการส่งออกรวม 5,019.81 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ารถจักรยานสามล้อ สกูตเตอร์ รถยนต์ที่ใช้เท้าถีบ และของเล่นที่มีล้อที่คล้ายกัน รถเข็นสำหรับตุ๊กตา ของเล่นสำหรับฝึกสมองทุกชนิด (พิกัดศุลกากร 9503) มูลค่าสูงที่สุดโดยปี 2566 (มกราคม – มิถุนายน) มีมูลค่าส่งออก 4,193.14 ล้านบาท ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าของเล่นเด็กไปยัง EU ต้องผ่านการตรวจและรับรองมาตรฐาน EN-71 โดยสามารถขอตรวจสอบ/กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ และสามารถขอรับใบอนุญาต มอก. ได้ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศจะติดตามความเคลื่อนไหวการปรับปรุงกฎระเบียบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิต ปรับปรุงและพัฒนาสินค้าของเล่นเด็กให้ตรงกับความต้องการ ถูกต้องตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนดต่อไป