กปว.ตั้งเป้าปี 67 เร่งรัดคำขอรับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 10,000 กรมธรรม์

273

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (ผจก.กปว.) เผยถึงการดำเนินงานของกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ในปี 2566 ว่าสามารถพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้แทนบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ที่ กปว. กำลังดำเนินการอยู่ จำนวน 8 บริษัท ซึ่งดำเนินการพิจารณาฯ ณ สิ้นปี 2566 ไปแล้วกว่า 128,092 คำทวงหนี้ คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 7.49 พันล้านบาท และในปี 2567 ยังคงเหลือคำทวงหนี้ที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา จำนวน 599,767 คำทวงหนี้ คิดเป็นเงินประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2567 กปว. จะเร่งรัดการตรวจพิสูจน์คำขอรับชำระหนี้ให้ได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 10,000 กรมธรรม์ ส่วนการอนุมัติจ่ายเจ้าหนี้จะดำเนินการจ่ายตามรายได้จากเงินสมทบตามมาตรา 80/3 ซึ่งได้ปรับอัตราการนำส่งจากร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 0.50 เป็นจำนวนเงินประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี

การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2566 ที่ผ่านมา กปว. ได้มีการเปิดตัวการใช้ LINE Official Account (LINE OA) “@gifsmart” เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการติดต่อให้กับเจ้าหนี้หรือประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการติดต่อสื่อสารกับทาง กปว. และสามารถเช็คสถานะคำทวงหนี้ พร้อมทั้งสามารถยืนยันสิทธิผ่าน @gifsmart ได้เลย โดยผลประกอบการหลังจากเปิดตัวการใช้ LINE OA “@gifsmart” แล้วนั้นมีผลตอบรับที่ดีเนื่องจากสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหนี้และประชาชนได้จริง ซึ่งมีจำนวนการเข้าใช้งานเพื่อตรวจสอบสถานะคำทวงหนี้จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของการส่งเสริมพัฒนาการประชาสัมพันธ์พัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคง โดยมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภายนอกและภาคีเครือข่าย จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง เช่น การจัดโครงการบรรยายความรู้เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ ภารกิจ และสถานการณ์ในปัจจุบันของ กปว.
ให้แก่ ประชาชน ตัวแทนนายหน้าประกันภัย และผู้เอาประกันภัยหรือเจ้าหนี้ที่เกิดจากกรณีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. ในส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์แทน กปว. ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน

นอกจากนี้ ผจก.กปว. ยังกล่าวถึงแนวโน้มการดำเนินงานของ กปว. ในปี 2567 เพิ่มเติมอีกว่าจะมีการขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ บมจ.สัจจะประกันภัย ตกเป็นบุคคลล้มละลายและคาดการณ์ว่าจะดำเนินการนำ บมจ.เจ้าพระยาประกันภัย เข้าสู่กระบวนการล้มละลายเช่นเดียวกัน และในส่วนของการพัฒนาระบบเทคโนโลยีของ กปว. จะมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสารโดยการนำระบบคุ้มครองสิทธิเชื่อมโยงกับระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) (สพร.) และพร้อมเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าใช้งานระบบคุ้มครองสิทธิ ด้วยการใช้ระบบ ThaiD ของกรมการปกครอง ตลอดถึงการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทั่วประเทศในเชิงรุกอีกด้วย