EXIM BANK ปักธงปล่อยสินเชื่อสร้างเศรษฐกิจ BCG 100,000 ลบ. ภายใน 5 ปี

467

พร้อมรับความเสี่ยง ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ หนุนทุนไทยไปต่างแดน เปลี่ยนไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง พัฒนาสู่ความยั่งยืน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ให้การต้อนรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนำชมนิทรรศการ “การเดินทางของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยBCG Journey ของ EXIM BANK จากนั้น นำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพจากสมุนไพร โดยเภสัชกรหญิงวันทณีย์ เสนาคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันเวนเชอร์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ผู้ผลิตแผ่นสติกเกอร์กันยุงและแผ่นสติกเกอร์หัวหอมบรรเทาหวัดจากสารธรรมชาติและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจาก EXIM BANK ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565

ในโอกาสนี้ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK รายงานว่า จากแนวนโยบายรัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้ายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง รองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเป็นดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของโลก EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดตั้ง EXIM BANK เพื่อประกอบธุรกิจอันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก การนำเข้า และการลงทุน เพื่อการพัฒนาประเทศ นับแต่เปิดดำเนินการในปี 2537 โดยต่อมาในปี 2542 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้ EXIM BANK สามารถสนับสนุนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศได้กว้างขวางมากขึ้น และในปี 2561 ได้มีการขยายขอบเขตการให้บริการประกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนแก่ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถเข้าไปรับงานหรือขยายฐานการค้าการลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น ตลอดระยะเวลากว่า 28 ปีที่ผ่านมา EXIM BANK จึงได้ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างความยั่งยืนของโลกภายใต้กรอบแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก แม้ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้า และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในโลกการค้ายุคใหม่

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูธุรกิจไทย โดยทำหน้าที่ “เครื่องยนต์รุ่นใหม่” ผลักดันการพัฒนาประเทศไทยในมิติเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบาย Dual-track Policy ชูบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs” EXIM BANK พร้อม “รับความเสี่ยง” มากกว่าธนาคารพาณิชย์ “ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่” โดยสนับสนุนโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมสู่อนาคต และ “หนุนทุนไทยไปต่างแดน” ทั้งด้านการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนดำเนินภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอด Supply Chain

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ที่ผ่านมา EXIM BANK ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจ BCG ไปแล้วประมาณ 30% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคารหรือประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนสินเชื่อโครงการพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 3.7 แสนล้านบาท ลดการปล่อยคาร์บอนในอากาศมากกว่า 100 ล้านตัน EXIM BANK ตั้งเป้าหมายจะขยายสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจ BCG เป็น 100,000 ล้านบาทภายในปี 2570 เพื่อร่วมกับประชาคมโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2608 นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้ Smart Farmers มีการเพาะปลูกแบบ Organic และพัฒนาระบบ Zero Waste สามารถนำกากของเสียจากโรงงานกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต เพื่อหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผันตัวเป็นผู้ส่งออกได้ในที่สุด 

“การเดินทางของ EXIM BANK ในบทบาท ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย’ นับแต่อดีตมุ่งเน้นลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เราเริ่มต้นจากการสร้างผู้ส่งออก นักลงทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียนด้วยกัน รวมทั้งการขยายโอกาสของธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ (New Frontiers) ภายใต้โมเดลที่วันนี้เรียกว่า BCG ทำให้เกิดไฟฟ้า ประปา พลังงานหมุนเวียนรองรับความต้องการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนและป้อนภาคอุตสาหกรรมในประเทศต่าง ๆ สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและประชาคมโลกโดยรวม” ดร.รักษ์ กล่าว