สรรพสามิตส่งเสริม“เอทานอล” นำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
คณะรัฐมนตรี รับทราบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้สามารถนำเอทานอลไปผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ นอกเหนือการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา สอดรับหลักการ BCG Model ด้านกรมสรรพสามิตขานรับนโยบายหนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) รองรับการขยายตัวตามเทรนด์โลกในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 รับทราบแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อันจะเป็นการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ผลิตเอทานอลในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 กระทรวงการคลังจึงกำหนดแนวทางการส่งเสริม การนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงลดการใช้ปิโตรเคมีจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตเม็ดพลาสติก
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร พร้อมดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง โดยจะสนับสนุนให้นำเอทานอลไปผลิตพลาสติกชีวภาพได้ โดยกำหนดให้ผู้ใช้เอทานอลจะต้องใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก
“สำหรับแนวทางในการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ สามารถสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. จัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ซึ่งมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด
2. กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตเอทานอลที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้ เอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้าในแต่ละปี ในกรณีที่ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตรงตามมาตรฐานและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้เอทานอล จะกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากร ขาเข้าในอัตราพิเศษเพื่อนำมาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ
3. ภาครัฐให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศให้สามารถจำหน่าย เอทานอลในราคาที่สามารถแข่งขันกับเอทานอลนำเข้าได้อย่างยั่งยืน
4. กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจะพิจารณาดำเนินการออกมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเอทานอลไปใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ
โดยคาดว่าในเบื้องต้นจะมีความต้องการใช้เอทานอลประมาณ 450 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งแนวทางการส่งเสริมเอทานอลชีวภาพในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพของเอทานอลในประเทศไทย รวมถึงเป็นการเพิ่มตลาดใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้เอทานอลในภาคการขนส่งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า” นายเอกนิติกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการผลิตพลาสติกจากวัตถุดิบปิโตรเลียม ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งหากเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นเอทานอลที่มาจากพืช เช่น อ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบชีวภาพ (Bio-based) จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมาก โดยกระบวนการปลูกพืช เพื่อนำมาผลิตเอทานอลและนำไปใช้ในการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพเป็นกระบวนการผลิตที่มี Carbon Footprint ต่ำ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร จึงเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก และหากประเทศไทยสามารถปรับกระบวนการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพได้ทั้งหมด 5 ล้านตัน จะช่วยสนับสนุนความต้องการเอทานอลมากกว่า 10,000 ล้านลิตรต่อปี ทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตมีความมั่นใจในการลงทุนพัฒนาคุณภาพเอทานอลในประเทศให้มีมาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากโอกาสดังกล่าว ที่สำคัญยังเป็นการตอบสนองต่อฉันทามติสากลในการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง