“กางเกงช้าง” สินค้าท่องเที่ยวสุดฮิต ต่อยอดไอเดียซอฟต์พาวเวอร์ จากกางเกงช้างสู่ดีไซน์ใหม่ไม่เหมือนใคร ชูอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่หนุนเศรษฐกิจและท่องเที่ยว “กางเกงปลาทูแม่กลอง” ยืนหนึ่งในใจโซเชียลที่มีชาวเน็ตเมนชั่นและมีเอ็นเกจเมนต์มากที่สุด รองลงมา “กางเกงกะปิปลาร้า” น่ารักจนพรีออเดอร์ล้น ส่วน “กางเกงแมว” ยังมาแรงหลังเป็นแฟชั่นไอเทมในเกม Free Fire
“กางเกงช้าง” หนึ่งในสินค้ายอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย ฮิตจนล่าสุดแม้แต่คนไทยเองก็ซื้อหามาสวมใส่ตามกระแสนิยม ทั้งยังเป็น 1 ในผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ (5F) ที่รัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พยายามผลักดันนโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
บริษัท ดาต้าเซ็ต จึงได้นำเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ทำการเก็บข้อมูลที่มีการกล่าวถึง “กางเกงช้าง” ใน Social Media ระหว่างวันที่ 15 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อนำมาวิเคราะห์เจาะตลาดความฮิตของ “กางเกงช้าง” พบว่า มีค่า Buzz ซึ่งเป็นการกล่าวถึง (Mention) รวมกับการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงถึง 846,600 ครั้ง
จาก “กางเกงช้าง” สู่ “กางเกงลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด” ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นไทย
จากกระแสความนิยมของ “กางเกงช้าง” โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมใส่กัน ล่าสุดนักบิดโมโตจีพีคนดังใส่โชว์ในโซเชียลจนเป็นไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์ ยิ่งสร้างกระแสให้แก่ “กางเกงช้าง” ทำให้หน่วยงานภาครัฐ การท่องเที่ยวฯ และผู้ประกอบการในพื้นที่แต่ละจังหวัดร่วมกันผลักดันให้กางเกงช้างเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในชุมชน ต่างผุดไอเดียนำเอกลักษณ์ประจำจังหวัดมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายต่าง ๆ บนกางเกงแทนลายช้าง กลายเป็นกางเกงลายเอกลักษณ์ประจำถิ่น หรือกางเกงลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด บางลวดลายมีกระแสตอบรับดีเยี่ยม อย่างกรณีกางเกงกะปิปลาร้าของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เปิดสั่งจองล็อตแรก (Pre-Order) ยอดจองเต็มภายใน 3 นาที
Top 5 กางเกงลายต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงในโซเชียลฯ มากที่สุด
อันดับ 1 กางเกงปลาทูแม่กลอง มี Mention และ Engagement รวม 72,153 ครั้ง
Plaplatootoo (ปาป้า-ทูทู่) หรือกางเกงปล้าง (ช้าง + ปลา) ของจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นลายที่ผ่านการชนะเลิศการออกแบบคาแรคเตอร์ของคนไทย ภายใต้โครงการ Change by CEA โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เมื่อปี 2564 และมีการออกแบบลักษณะเฉพาะตัวของกางเกงเป็นฟรีไซซ์ ที่ทำจากผ้าไหมอิตาลี คุณภาพสูง ใส่สบาย มีกระเป๋าข้าง เชือกผูกเอว และขาจั๊ม นอกจากนี้ผู้คิดค้นลายยังแสดงออกถึงความมั่นใจว่าไม่กังวลเรื่องของเลียนแบบ และบอกว่าของแท้ต้องผลิตในพื้นที่เท่านั้น
อันดับ 2 กางเกงกะปิปลาร้า มี Mention และ Engagement รวม 55,435 ครั้ง
เรียกว่าเป็นที่ฮือฮากันมาก เมื่อสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จัดทำกางเกงผ้าสุดพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 70 ปีขององค์การสวนสัตว์ โดยได้ออกแบบลวดลายโชว์ความน่ารักของเจ้า “คาปิบารา (Capybara)” หรือที่ชาวโซเชียลคนไทยมักเรียกกันว่า “กะปิปลาร้า” ซึ่งเป็นหนูยักษ์ที่สร้างความฮือฮากันบนโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก ไม่ว่าใครได้เห็นก็ต่างตกหลุมในความน่ารักกันถ้วนหน้า เห็นได้จากยอดสั่งพรีออเดอร์กางเกง ที่เมื่อเปิดให้จองปุ๊บ เว็บล่มและเต็มทันทีภายใน 3 นาทีแรก
อันดับ 3 กางเกงแมวโคราช มี Mention และ Engagement รวม 51,297 ครั้ง
กลายเป็นสินค้าสุดฮิตสำหรับ “กางเกงแมวโคราชที่เป็นลาย KORAT MONOGRAM” ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากประกวดในงาน “มามูย่า” ที่จัดขึ้นโดยหอการค้าร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา โดย “แมวโคราช หรือ แมวมาเลศ” ถือว่าเป็นสัตว์ประจำจังหวัดนครราชสีมา (โคราช) และล่าสุดหลายหน่วยงานได้ร่วมกันผลักดันกางเกงแมวโคราช เป็นแฟชั่นไอเทมในเกม “Free Fire” เกมออนไลน์ชื่อดังและเป็นหนึ่งในเกมสุดฮิตของอีสปอร์ต
อันดับ 4 กางเกงปูก้ามดาบ มี Mention และ Engagement รวม 29,736 ครั้ง
กางเกงปูก้ามดาบ ประจำจังหวัดสมุทรสาคร มีลวดลายกางเกง ประกอบไปด้วย ลายปูก้ามดาบตัวเล็ก ตัวใหญ่, ลายป่าชายเลน, ลายคลื่นน้ำ 3 ระลอก, ลายคลื่นน้ำ 3 เส้น, ลายจักรีประยุกต์ (ลายดอกเดซี่) และเลขมงคล ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงถึงอัตลักษณ์ทางศิลปะ วิถีชีวิตและระบบนิเวศของจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนี้เนื้อผ้าของกางเกงนั้น ได้ใช้ผ้าไหมอิตาลี ซึ่งจะมีความยืดหยุ่น ผิวเรียบเงางาม และมีความทนทานของกางเกงมากกว่าเนื้อผ้าที่ใช้ผลิตกางเกงช้างทั่วไป
อันดับ 5 กางเกงปลาแรด มี Mention และ Engagement รวม 17,038 ครั้ง
กางเกงปลาแรดนั้นได้รับการออกแบบโดยวิศวกรเจ้าของร้านกาแฟ “จงรัก” ในจังหวัดอุทัยธานี โดยมีการใช้อัตลักษณ์ของจังหวัดมาทำเป็นลายของกางเกง มีทั้งปลาแรด และมีคำว่า UTHAI อยู่ในตัวปลา ดอกสุพรรณิการ์ เรือนแพ แม่น้ำสะแกกรัง และบันไดวัดสังกัสรัตนคีรี ความนิยมของกางเกงปลาแรดพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากนำมาวางขาย ขายดีจนผลิตไม่ทัน และมียอดการสั่งจองยาวเป็นเดือน
นอกจาก 5 อันดับกางเกงสุดฮิตที่หลายภาคส่วนพยายามผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) แล้ว ยังมีกางเกงลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัดในลวดลายต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิ กางเกงวัวลาน จังหวัดเพชรบุรี, กางเกงไดโนเสาร์ จังหวัดขอนแก่น, กางเกงไก่ชน จังหวัดพิษณุโลก, กางเกงนนทบุเรี่ยน จังหวัดนนทบุรี ซึ่งไม่เพียงแต่จังหวัดเท่านั้น ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายก็มีการออกแบบลวดลายผลิตกางเกงช้างในลวดลายต่าง ๆ อีกด้วย เช่น กางเกงช้างขายหัวเราะ นับว่าเป็นกางเกงช้างตัวแรกที่มีแก๊กการ์ตูนมาโลดแล่นอยู่บนกางเกง, กางเกงลายเด้อ ที่มีลวดลายกางเกงเป็นการ์ตูนมาสค์ไรเดอร์ไฟซ์ การ์ตูนญี่ปุ่นสุดฮิตของเด็ก ๆ เป็นต้น
และนอกจากเราจะเห็นลายต่าง ๆ ที่หลากหลายบนกางเกงแล้ว ยังมีการพัฒนานำลายช้างไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ เช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้าในจังหวัดเชียงใหม่อย่าง Chinrada Garment ได้นำลายช้างมาเป็นลายของเสื้อ กระเป๋า และสินค้าอีกหลายอย่างของร้าน
กางเกงช้างไปไกลแค่ไหน
หากใครรู้จักเกม Free Fire เกมภายใต้สังกัดของ Garena ก็น่าจะได้เห็นข่าวกันไปบ้างแล้วเกี่ยวกับกางเกงแมวโคราชที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์นำไปเป็นแฟชั่นไอเทมภายในเกม เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างจากการที่กระแสของกางเกงช้างโด่งดังเป็นอย่างมาก ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหลายรายมองเห็นช่องทางการประกอบอาชีพ หรือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ ในปัจจุบันจึงมีร้านเสื้อผ้าที่ขายกางเกงช้างในราคาและคุณภาพที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่าง Chanthaburi Original กางเกงลายกระต่ายคู่ทุเรียนที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของ หอการค้าจังหวัดจันทบุรี และ Greyhound Original ที่ยกระดับกางเกงช้างที่มีขายทั่วไปให้มีระดับมากขึ้นทั้งด้านคุณภาพและราคา
นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย อย่างโครงการ Thailand Soft Power X Guinness World Records Challenge โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการนำเสนอ Soft Power 5 F ของไทย และหนึ่งในกิจกรรมของโครงการนี้คือการแข่งใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที
ฟังเสียงโซเชียลพูดถึงกางเกงช้าง
จากภาพรวมของผู้บริโภคที่มีต่อกางเกงช้างนั้น พบว่าหลายความคิดเห็นกล่าวชื่นชมแนวคิดที่นำสัญลักษณ์หรือเอกลักษณ์เด่น ๆ ของแต่ละจังหวัดนำมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายบนกางเกง บางความคิดเห็นต้องการให้ทุกจังหวัดจัดทำเพื่อให้เป็นกางเกงประจำจังหวัด นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางรายมีความเห็นด้านคุณภาพที่ระบุว่าเนื้อผ้าที่บางเกินไปทำให้กางเกงขาดง่ายและเมื่อแสงส่องทำให้สามารถมองทะลุผ่านกางเกงได้
รวมถึงกรณีกระแสกางเกงช้างฟีเวอร์จนเกิด “กางเกงช้าง” ผลิตจากประเทศจีนและส่งเข้ามาตีตลาดจำหน่ายในราคาถูกที่ไทยนั้น สร้างความตื่นตัวให้กับคนไทยและผู้ประกอบการที่ต้องรับมือและปรับปรุงการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และพัฒนาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการยื่นขอลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจาก “กางเกงช้าง” ซึ่งมีลวดลายที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทย มีการผลิตและจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวเพื่อซื้อเป็นของฝากของที่ระลึกมานานกว่า 10 ปีแล้ว