eisaดึงพันธมิตร ลงพื้นที่กลุ่มแปรรูปอาหารบ้านบึงหล่ม ครั้งที่ 2

185

โครงการ Educational Instituted Support Activity (eisa), โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม, บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับชมรม Student in Free Enterprise (SIFE) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ลงพื้นที่บ้านบึงหล่ม หมู่ที่ 10 ตำบลถาวรวัฒนา อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร เป็นครั้งที่ 2

ในความร่วมมือพัฒนาช่องทางการตลาด การทำแบรนด์สินค้าแปรรูปภายใต้แบรนด์เดียวของชุมชน การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสถานที่ทำพริกแกงให้มีความเหมาะสม การพัฒนาการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งทางคณะอาจารย์และนิสิตได้ดำเนินการวางแผนการทำงานโดยร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน  โดยในครั้งนี้เน้นไปที่ความร่วมมือ ในการออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์ การพัฒนาขนาดบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาช่องทางการตลาดและการขนส่ง

กลุ่มธุรกิจในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย คุณธงชัย ธรรมสุคติ ที่ปรึกษาด้านมวลชนสัมพันธ์ บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานเริ่มดำเนินการด้านมวลชนสัมพันธ์กับชุมชนตั้งแต่การรับซื้อผลผลิตคือต้นอ้อยจากชาวบ้านในชุมชนบริเวณรอบโรงงานเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาล โดยจะเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยที่ไม่ได้ผ่านการเผาแต่ใช้รถตัดอ้อย ซึ่งในกระบวนการนี้มีทั้งให้สินเชื่อชาวบ้านในชุมชน   สำหรับการซื้อรถตัดอ้อย หรือให้ชาวบ้านในชุมชนเช่ารถตัดอ้อยของโรงงานในราคาที่ถูก ด้วยลักษณะของโรงงานเราเป็นพื้นที่เปิด ดังนั้นเมื่อถึงฤดูกาลหีบอ้อยก็จะมีเรื่องของฝุ่น เรื่องอ้อยตกบริเวณถนน ทางโรงงานจึงร่วมมือกับสมาคมไร่อ้อย และชุมชนบริเวณพื้นที่โดยรอบในการจัดการฝุ่นและทำความสะอาดพื้นที่ถนน โดยแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบร่วมกัน สำหรับในกระบวนการผลิตนอกจากการเอาอ้อยมาหีบ จะมีการนำกากอ้อย และใบอ้อย เศษขี้เถ้า หรือเศษวัสดุอื่นๆ ที่ได้จากการผลิต โดยส่วนนึงขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และอีกส่วนนึงนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน สำหรับส่วนที่เหลือคือบริจาคให้กับชุมชนบริเวณพื้นที่รอบโรงงานเพื่อนำใช้เป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยหรือปรับปรุงพื้นที่ทำการเกษตร นอกจากนี้แล้วโรงงานยังส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีอาชีพ โดยพนักงานในโรงงานของเราจะเป็นคนในพื้นที่ประมาณ 80% ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะมีความรู้สึกผูกพันและมีความเป็นเจ้าของร่วมด้วยกับโรงงาน  โรงงานมีแนวความคิด 3 หลัก ในการอยู่ร่วมกับชุมชนบริเวณพื้นที่รอบโรงงานร่วมอยู่ โดยโรงงานถือคติว่าโรงงานกับชุมชนอยู่กันแบบเป็นครอบครัวเดียวกัน

จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้โดย โครงการ Educational Instituted Support Activity (eisa), โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม,            บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  โดยกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับชมนุม Student in Free Enterprise (SIFE) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการลงพื้นที่บ้านบึงหล่ม จังหวัดกำแพงเพชร ครั้งที่ 2 นี้ นับเป็นการต่อยอดในการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ของกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อันนำไปสู่เป้าหมาย “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” ซึ่งเป็นพันธกิจของไทยเบฟ ที่ เชื่อมันว่า “การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” เป็นการสร้างความยั่งยืนสู่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน