DITP ลุยเพิ่มตัวเลขส่งออกผลไม้ไทยเต็มสูบ“ทุเรียน” ฮิตครองแชมป์

375

“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ลุยเพิ่มตัวเลขส่งออกผลไม้ไทยเต็มสูบ ปลื้มผลตอบรับ “กิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าผลไม้ภาคใต้ในรูปแบบออนไลน์ (OBM)”  มูลค่าซื้อขายทะลุ 802 ล้านบาท “ทุเรียน” ฮิตครองแชมป์ยอดส่งออกผลไม้สด

จากนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมียุทธศาสตร์ตลาดนําการผลิต เพื่อขยายตลาดการส่งออก และสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น นโยบายดังกล่าว นำมาสู่การประกาศมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ประจําปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้เดินหน้าจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปในรูปแบบออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ซึ่งเป็นการปรับตัวของกรมฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเดินทางระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้เกิดการเจรจาซื้อขายสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการให้วางแผนส่งออกผลไม้ตลอดปี 2565 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า จากการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าผลไม้ภาคใต้ในรูปแบบออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ระหว่างวันที่ 22 – 23 มิถุนายน 2565 พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งผู้ส่งออกไทย และผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าผลไม้จากประเทศต่างๆ โดยตลอดการจัดกิจกรรมทั้ง 2 วัน มีผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าที่เข้าร่วมกิจกรรมรวมจำนวน 52 บริษัท จาก 22 ประเทศ โดยมีผู้ส่งออกผลไม้ของไทยเข้าร่วมกิจกรรมรวม 19 บริษัท เกิดการจับคู่เจรจาที่ประสบความสำเร็จรวม 154 คู่ คิดเป็น 95% โดยมีมูลค่าซื้อขายจากการเจรจาการค้า รวม 802 ล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าสั่งซื้อทันที 6,166,400 บาท และมูลค่าสั่งซื้อภายใน 1 ปี 795,833,600 บาท

โดยประเทศที่มีการขอจับคู่เจรจามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน 2. รัสเซีย 3. ซาอุดิอาระเบีย        4.อินเดีย และ 5. สหรัฐอเมริกา โดยผลไม้สด (ทุเรียน/มังคุด/มะพร้าว) เป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ตามมาด้วยผลไม้อบแห้ง (มะม่วง, ทุเรียน, ลำไย) และ ผลไม้แช่แข็ง (มะพร้าว)

นายภูสิต กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้า โดยเฉพาะสินค้าผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปในรูปแบบออนไลน์  (Online Business Matching : OBM) ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง ตามฤดูกาลของผลไม้ไทย โดยมีมูลค่าซื้อขายจากการเจรจาการค้ารวมถึง 3,303,814,500 บาท แบ่งเป็น มูลค่าสั่งซื้อทันที 221,980,900 บาท และมูลค่าสั่งซื้อภายใน 1 ปี 3,081,833,600 บาท ประกอบด้วย

1. กิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าผลไม้ที่มีผลผลิตทั้งปีและผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 – 17 ธันวาคม 2564 มีมูลค่าซื้อขายจากการเจรจาการค้ารวมทั้งสิ้น 1,454,000,000 บาท แบ่งเป็น มูลค่าสั่งซื้อทันที 209,000,000 บาท และมูลค่าสั่งซื้อภายใน 1 ปี 1,245,000,000 บาท

2. กิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปสำหรับภาคตะวันออก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 11 มีนาคม และวันที่ 16 มีนาคม 2565 มีมูลค่าซื้อขายจากการเจรจาการค้า รวมทั้งสิ้น 1,047,814,500 บาท แบ่งเป็น มูลค่าสั่งซื้อทันที 6,814,500 บาท และมูลค่าสั่งซื้อภายใน 1 ปี 1,041,000,000 บาท

และ 3. กิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปสำหรับภาคใต้ ล่าสุดที่เพิ่งจบไป ซึ่งถือเป็นการปรับตัวที่ประสบความสำเร็จ สามารถผลักดันการส่งออกผลไม้ของไทยในปีนี้ให้ขยายตัวอย่างชัดเจน ทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกและเกษตรกรชาวสวนไทยให้สามารถขายสินค้าและผลผลิตได้มากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายปลายทาง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ