ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชาครั้งที่ 21 ศึกษาแนวทางลดความรุนแรงจากภัยพิบัติธรรมชาติ

411

ภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนบนโลกใบนี้ควรเริ่มตระหนัก และเข้าใจถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้ มาจากหลายสาเหตุทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของโลกที่เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยธรรมชาติ หรือจากการกระทำของมนุษย์  มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 พื้นที่ 40% ของกรุงเทพมหานคร จะถูกน้ำท่วมเสียหาย ทั้งจากฝนที่ตกหนักและน้ำหนักของตึกระฟ้าที่ยิ่งส่งผลให้เมืองกรุงเทพฯต้องจมลงในอัตรา 0.8 นิ้วต่อปี (ข้อมูลจาก https://www.carethebear.com )   การที่โลกเรามีอุณหูมิสูงขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นความร้อนที่ทำให้เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง หรือฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน ปัญหาภาวะโลกร้อนนี้ ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งซึ่งหากทุกคนมีความรับผิดชอบช่วยกันแก้ไขก็อาจช่วยบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงได้  

โครงการทิพยสืบสาน รักษาต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 21 ณ โครงการสาธิตการปลูกพืชในพื้นที่ดินเค็มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครราชสีมา คัดเลือกครูอาจารย์จากทั่วประเทศ และผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมในโครงการ เป็นการสอดแทรกความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และร่วมมือกันในการป้องกันเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติธรรมชาติ รวมถึงตอกย้ำความเข้าใจในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ลงพื้นที่เรียนรู้การแก้ปัญหาดินและน้ำ ที่เป็นสาเหตุหลักในการทำให้ผืนดินเสื่อมโทรมเพาะปลูกพืชไม่ได้และเมื่อเกิดฝนตก ดินไม่อุ้มน้ำเพราะมีต้นไม้ช่วยชะลอน้ำ ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมขึ้น ซึ่งเมื่อทุกคนเกิดความเข้าใจจะสามารถช่วยกันเผยแพร่เพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบนผืนแผ่นดินนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการทำปุ๋ยหมักแห้งสูตรพระราชทานเพื่อการเสริมสร้างอาชีพ  และเข้าร่วมฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี พร้อมร่วมกิจกรรม Workshop ถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้นวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 Interactive Board Game จากวิทยากร อาจารย์ อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่และการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดสำหรับองค์กรต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกิจกรรม “ธรรมดีช่วยเพื่อน” การปล่อยปลานิลกินพืชจำนวน 590 กิโล และมอบพันธุ์โคจำนวน 12 ตัว 20 ชีวิตให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองบัวทุ่ง ที่มีความขยัน ซื่อสัตย์ กตัญญู และชาวบ้านในตำบลตาจั่น อำเภอคง จ.นครราชสีมา ที่มีฐานะยากจน จำนวน 11 ครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวของนักเรียนมีอาชีพ  และส่งเสริมการประกอบอาชีพของครอบครัวด้วยการนำไปขยายพันธุ์โคต่อไปเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน  และสร้างวิถีชีวิตตามแนวคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เราไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องความร่วมมือกับครูอาจารย์เท่านั้น เรายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ชุมชนในท้องถิ่นให้พึ่งตนเองได้มากขึ้น ด้วยการสร้างโอกาสและเสริมเครื่องมือในการประกอบอาชีพ”

“การไถ่ชีวิตและมอบโคจำนวน 12  ตัว 20 ชีวิต นับว่าเป็นกุศโลบายในการสร้างมหาบุญ ถึง 3 ต่อ คือ1) เราได้ร่วมบุญไถ่ชีวิตโคที่เป็นแม่ลูกอ่อนให้รอดพ้นจากการถูกฆ่า 2) เราได้ช่วยให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับครอบครัวของนักเรียนที่มีความประพฤติดี ขยัน ซื่อสัตย์ กตัญญู และ3) เงินทำบุญจากผู้มีจิตอันเป็นกุศลยังต่อไปยังโรงเรียน 590 แห่งทั่วประเทศในรูปแบบของชุดหนังสือมรดกแห่งแผ่นดินเป็นการส่งต่อแสงสว่างแห่งปัญญาเพื่อให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์แผ่นดินเพื่อไม่ให้ลืมรากเหง้าของประเทศไทย   ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองในชุมชน   และเรามีความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของชุมชนจากการที่เราเข้ามาร่วมทำกิจกรรมในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเยาวชนและครอบครัวที่มีความต้องการสร้างอาชีพเพื่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคงของชุมชนต่อไปในอนาคต” นางวิชชุดา กล่าวเพิ่มเติม

ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า  “โครงการนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN SDGs ภายในปี 2030 ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กร  บุคคล ต้องตระหนักและเตรียมการ ซึ่งการสร้างความรู้ ความเข้าใจเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น ต้องมีการวางแผนดำเนินการและสื่อสารอย่างทั่วถึง  รวมถึงการสร้างความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาจากระดับตน ขยายผลไปสู่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้คนไทยได้เข้าใจวิถีความยั่งยืนและนำพาให้พึ่งพาตนเองได้”

รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี  ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้ง 2 วันได้ปฏิบัติด้วยการลงมือทำเพื่อให้เข้าใจในบริบทของคุณธรรม 5 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู ได้อย่างชัดเจน พร้อมย้ำว่า คุณธรรม สร้างได้  เพราะคุณธรรมคือ “วิถีชีวิต” และสามารถเริ่มได้จากตนเอง เพื่อช่วยให้คนดีมีพื้นที่ยืน และความดีมีพื้นที่ในสังคม”

โครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา  จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD)  มูลนิธิธรรมดี  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙  ในการทรงงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งยังเพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”