ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 28 ร่วมรณรงค์ลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ บางกระเจ้า สมุทรปราการ
ปัญหา PM2.5 และภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบทำให้โลกใบนี้เกิดมลภาวะและอุณหภูมิที่สูงขึ้น อีกทั้งการแปรเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกคุกคามโดยน้ำมือของมนุษย์ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ส่งผลกระทบให้กับประเทศไทยต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศ หลายพื้นที่มีอากาศร้อนจัด เกิดลมกรรโชกรุนแรง ปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ เกิดวิกฤติน้ำท่วม พื้นดินทรุดตัว ส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณสมุทรปราการ บางขุนเทียน บางพื้นที่หายไป มีการคาดการณ์ว่า กรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัดจะจมลงภายในไม่อีกกี่ปี โลกเราจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เราทุกคนสามารถช่วยกันฟิ้นฟูสภาพป่ารักษาป่าที่มีอยู่ให้คงอยู่ต่อไป ลงมือปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มมากขึ้น พยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รณรงค์การใช้พลังงานทดแทน ที่สำคัญคือ การร่วมสร้างจิตสำนึกเพื่อให้เห็นความสำคัญของการรักษาสภาวะสมดุลของโลก
โครงการทิพยสืบสาน รักษาต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 28 ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสมดุลของธรรมชาติ จึงได้นำครูอาจารย์ และผู้บริหารองค์กรทั้งจากภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่ ณ ศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ บางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างพื้นที่สีเขียว ดูแลระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อช่วยในการลดมลภาวะ และสามารถนำไปพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เป็นครั้งแรกที่นำคณะล่องเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยา กราบสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน เนื่องในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระเจ้าตากสินมหาราช ในเดือนเมษายน ณ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร วัดเก่าแก่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ที่พระเจ้าตากทรงบำเพ็ญธรรมก่อนออกศึกสงคราม มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อชำระล้างศาสตราวุธที่ผ่านสงคราม และเป็นสถานที่มงคลที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำสร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัย
คุ้งบางกระเจ้า เป็นพื้นที่สีเขียวแหล่งผลิตออกซิเจน อากาศบริสุทธิ์ และเป็นปอดกลางเมืองให้กับกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง บนเนื้อที่ราว 1,276 ไร่ กระจายอยู่ใน 6 ตำบลที่อุดมสมบูรณ์ โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ ว่าศรีนครเขื่อนขันธ์ และ มีพระราชดำริว่าสมควรสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้สำหรับเป็นพื้นที่สีเขียว และให้ใช้เป็นแนวทางในการจัดการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณบางกระเจ้าให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ การลงพื้นที่ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงการศึกษาประโยชน์ของพืชและสมุนไพรท้องถิ่นที่บางกระเจ้า เป็นการศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทางด้านการดูแลรักษาสุขภาพ การดำรงชีวิตประจำวัน ตลอดจนถึงเพื่อการพาณิชย์ อาทิ การทำลูกประคบสมุนไพร การทำอาหารและขนมจากต้นจาก น้ำสมุนไพรที่มาจากพืชท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดเป็นการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นการเรียนรู้การนำเอาแนวคิดของ BCG Model ( Bio Economy /Circular Economy/ Green Economy) ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้โดยเป็นการมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิพยประกันภัย ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงเรื่อง ESG ( Environmental/ Social / Governance) ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาและฟิ้นฟูสภาพแวดล้อมโดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อสังคมและสามารถเติบโตไปได้อย่างเกื้อกูลแก่ทุกฝ่าย กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการร่วมสร้างจิตสำนึกเพื่อช่วยกันปกป้องดูแลทรัพยากร ดิน น้ำ ลม ไฟ ด้วยความเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยส่งผลให้เกิดความสมดุลต่อโลกใบนี้ได้ นอกจากนี้ การได้กราบสักการะพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และได้ร่วมทำบุญปล่อยปลา ณ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร นับว่ากิจกรรมนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งด้านการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และศาสนา ถือเป็นสิริมงคลต่อชีวิตสืบต่อไป ด้าน ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเสริมว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงประทานไว้ให้กับคนไทยทุกคน จะเป็นทางออกให้กับทุกฝ่ายในการนำมาปรับและพัฒนาแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ที่สำคัญเราทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ UNSDGs 17 ข้อ เพื่อให้โลกของเรากลับมาสู่สมดุลโดยเร็ว