“วธ.” เดินหน้านโยบาย 1 ครอบครัว 1 ชู “เศรษฐกิจวัฒนธรรม”

93

นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผศ.ดร. รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดร. สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ชั้น 5 บริเวณโถงทางเข้า รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน” โดยมีกรอบแนวคิดหลักคือขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม โดยการส่งเสริมศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของ “คน” มาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในการยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทย คู่ขนานไปกับการเพิ่มการเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมของผู้คน โดยโครงการส่งเสริมทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูง ตั้งเป้าหมายว่าผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 2,400 คนจะได้รับการพัฒนาส่งเสริมทักษะด้าน Soft Power ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการนำความรู้ นำทักษะไปใช้สร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ภายใต้โครงการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่าน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์องค์ความรู้ด้านที่เป็น Soft Power ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง โดยจัดฝึกอบรม Upskill/Reskill จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Soft Power ใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหาร รวมถึงขยายโอกาสทางการตลาด และส่งเสริมการเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 5 ภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 2,400 คน หลังจากฝึกอบรม Upskill/Reskill จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Soft Power แล้วได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีผลงานโดดเด่น จำนวน 200 ผลงาน/คน เพื่อเข้าร่วมงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ โดยกำหนดจัดขึ้น 5 วัน ระหว่างวันที่ 18 – 22 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. จัดงานใน 2 พื้นที่ด้วยกัน คือ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และ พาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน

หลังจาก วธ. จัดอบรมส่งเสริมทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูงแล้ว จึงจัดงาน “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” ขึ้น เพื่อจัดแสดงสินค้าที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมและมีผลงานที่โดดเด่น จำนวน 200 ผลงาน/คน ในการเป็นเวทีแสดงศักยภาพ เจรจาการค้า ผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ วธ. ยังร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทยในการดึงภาคเอกชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมาย ผู้ซื้อรายใหญ่ที่มีความสนใจในสินค้าและบริการวัฒนธรรม และเป็นที่น่ายินดีเพราะเบื้องต้นได้รับคำแนะนำว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย กำลังเป็นที่จับตามองจากตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่หายาก เป็นงานฝีมือที่มีคุณค่า ซึ่งภาคเอกชนมีความสนใจต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยเป็นจำนวนมาก เพื่อสนองความต้องการผู้บริโภคนำไปจำหน่ายในช่องทางการตลาดของตนเองทั้ง offline และ online และเชื่อว่าเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจจะเกิดการเจรจาธุรกิจในงานได้ไม่น้อยกว่า 200 คู่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

ด้านผศ.ดร. รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “สถาบันฯ มีพันธกิจหลักสำคัญ คือ การดำเนินงานและสนับสนุนการวิจัย พัฒนาประยุกต์องค์ความรู้ และส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพขั้นสูง โดยมีภารกิจด้านการสอนและวิจัยให้บริการวิชาการแก่สังคม สำหรับโครงการส่งเสริมทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูง ทางสถาบันฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 4 สาขา (ท่องเที่ยว ศิลปะ อาหาร และดนตรี) เพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยสู่ความเป็นสากล อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเกิดประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนและเครือข่ายผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม โดยจะมีการดำเนินการใน 6 ขั้นตอน ได้แก่  (1) การจัดทำกรอบแนวคิด รูปแบบและแผนการดำเนินงาน (2) การศึกษา วิเคราะห์องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมไทยที่เป็น Soft Power (3) การพัฒนาทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูง (4) การจัดมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจราธุรกิจ (5) การประชาสัมพันธ์ และ (6) การประเมินผล สถาบันฯ ขอขอบพระคุณ กระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้มอบโอกาสให้ สถาบันฯ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานโยบายขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่าน11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศ ให้ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และพัฒนาเศรษฐกิจด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย สู่การมี Soft Power ที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากลต่อไปในอนาคต”

ด้าน ดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย ในฐานะที่ปรึกษาของโครงการด้านการจับคู่เจรจาธุรกิจ กล่าวว่า “สมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย (Thai Handicraft Promotion Trade Association – THTA) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยกับตลาดโลก โดยพันธกิจหลักของสมาคมฯ คือ การสนับสนุนการตลาด การสร้างโอกาสทางธุรกิจ และการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในเวทีนานาชาติ สำหรับงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ สมาคมฯ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ Trader ห้างสรรพสินค้า สมาคมการค้าภายใต้สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม และช่องทาง e-commerce แต่ที่สำคัญที่สุดคืออุตสาหกรรม HoReCa (โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง) ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและต้องการสินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพสูง ซึ่งอุตสาหกรรม HoReCa ไม่ใช่เพียงแค่ตลาดขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นโอกาสในการนำเสนอสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างแท้จริง ตั้งแต่สิ่งทอพื้นเมือง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร งานฝีมือ ของตกแต่ง ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีรากฐานจากภูมิปัญญาท้องถิ่น หากเราสามารถพัฒนาและยกระดับสินค้าให้เป็นสินค้าติดดาวที่มีมูลค่า ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เจรจาการค้ากับผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกได้ โดยขณะนี้มีกลุ่มเอกชนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่ให้ความสนใจ อาทิ กลุ่มบริษัท Trader ที่จะนำสินค้าไปจำหน่ายในจีนและสนามบินหลักในจีน กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ สภาอุตสาหกรรม กลุ่มห้างสรรพสินค้าตลาดรีเทล สมาคมการค้าต่างๆ ที่ส่งเสริมหัตถกรรมไทย รวมถึงกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และตลาด e-commerce ระดับสากล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสินค้าไทยที่สามารถไปไกลได้มากกว่าที่เราคิด” 

“งานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” กำหนดจัดขึ้น 5 วัน ใช้พื้นที่ 2 โซนของศูนย์การค้าสยามพารากอน คือ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และ พาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยได้จัดแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาจัดแสดงและจัดจำหน่ายในแต่ละโซน ประกอบด้วย

§  บริเวณพาร์ค พารากอน ชั้น M จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยขนาดเล็ก

และผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารประเภทสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นแปรรูปจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย

§  บริเวณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยที่มีความโดดเด่นใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหาร จากจำนวน 200 ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมและได้รับการพัฒนา อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เอกอรรถหัตถศิลป์ เช่น ของใช้ งานฝีมือ งานจักสาน ของที่ระลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และอาหาร

§  นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจอีกมากมาย

กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญ ผู้ผลิต/ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่ายสินค้า องค์กรและหน่วยงาน  ชั้นนำ รวมถึงผู้ที่สนใจทุกท่านเข้าร่วมเจรจาธุรกิจและชมงาน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจ  1 ครอบครัว 1 Soft Power ในงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ  ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 22 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และ พาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน